playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

รีวิว Raya and The Last Dragon เจ้าหญิงดิสนีย์หันมาตีตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ไม่สปอยล์)

สรุป

ยำใหญ่เจ้าหญิงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้บทจะคาดเดาง่าย และตัวละครต่าง ๆ และโลกของหนังจะหลวมจนจืดชืด ไม่มีอะไรให้จดจำ
แต่ประเด็นความเชื่อใจ ฉากแอ็คชั่น งานภาพ เสียง และการนำเสนอวัฒนธรรมถือว่าสอบผ่านอยู่

Overall
7.5/10
7.5/10
Sending
User Review
5 (1 vote)

Pros

  • การนำเสนอวัฒนธรรมของสังคมที่คล้ายคลึงประเทศไทยบนจอภาพยนตร์
  • ฉากแอ็คชั่นสุดดุเดือดที่สุดเท่าที่มีมาของธรรมเนียมเจ้าหญิงดิสนีย์
  • งานภาพสุดแฟนตาซีวิจิตรตระการตา
  • ประเด็นเรื่องของความเชื่อใจที่ทำออกมาใช้ได้ และความเข้มข้นของเรื่องราวระดับอเวนเจอร์
  • ดนตรีประกอบที่มีกลิ่นอายของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไพเราะใช้ได้
  • พากย์ไทยมีคุณภาพมาก ญาญ่าพากย์ดีตามมาตรฐานดิสนีย์ ส่วนนักพากย์น้องใหม่อย่างคุณพิมที่เพิ่งชิมลางพากย์เสียงภาพยนตร์เป็นครั้งแรกในบทซีซูก็ทำให้เห็นแววว่าเธอจะได้ไปพากย์เป็นตัวละครของอควาฟิน่าในหนังเรื่องต่อไป

Cons

  • พล็อตเรื่องเดาง่ายมาก ๆ ไม่มีอะไรใหม่
  • ตัวละครขาดความน่าสนใจ
  • ไม่มีการขยี้ปมอะไร เปลี่ยนอารมณ์ไวมาก
  • บทพูดที่หลุดยุคไปหน่อย

Raya and The Last Dragon (รายากับมังกรตัวสุดท้าย) ภาพยนตร์แอนิเมชันแนวแอ็คชั่นผจญภัยแฟนตาซีสัญชาติอเมริกัน ผลิตโดยวอลต์ดิสนีย์พิกเชอส์และวอลต์ดิสนีย์แอนิเมชันสตูดิโอส์ จัดจำหน่ายโดยวอลต์ดิสนีย์สตูดิโอส์โมชันพิกเชอส์ โดยเป็นภาพยนตร์ลำดับที่ 59 ที่สร้างโดยสตูดิโอนี้ กำกับโดยดอน ฮอลล์และคาร์ลอส โลเปซ เอสตราดา หัวหน้าร่างสตอรี่บอร์ดโดยคนไทยจากศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล ประสานสุข วีระสุนทร เขียนบทโดยฉุย เหงียน และอะเดล ลิม และดนตรีประกอบแต่งโดยเจมส์ นิวตัน โฮเวิร์ด พากย์เสียงโดยนักแสดงชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียเกือบทั้งหมดอย่าง เคลลี่ มารี ทราน หรือ โรส ทิโค่ จากสตาร์ วอร์ ปัจฉิมบทเจได ในบทรายา และอควาฟินา จาก กอดสุดท้าย คุณยายที่รัก ในบทซีซู มังกรตัวสุดท้าย พร้อมด้วยเจมมา ชาน จาก เครซี่ ริช เอเชี่ยนส์ เหลี่ยมโบตัน และ กัปตันมาร์เวล พร้อมด้วย แดเนียล แด คิม, ซานดรา โอห์, เบเนดิกต์ หว่องไอแซค หวังธาเลีย ทราน และอลัน ทูดิก โดยกำหนดฉายควบทั้งในโรงและในบริการสตรีมมิ่งของดิสนีย์ พลัสในวันที่ 5 มีนาคม แต่ฉายในไทยไปแล้วเรียบร้อยในวันที่ 4 มีนาคม 

ADBRO

 Raya and the Last Dragon (2021) on IMDb

Raya and The Last Dragon

ใครจะไปคาดคิดกันว่าดิสนีย์จะหยิบนำวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รวมกว่าสิบประเทศให้มาอยู่ในโปรเจกต์อนิเมชั่นยักษ์ใหญ่ที่มีการผสมผสานของหลากหลายวัฒนธรรมบนดินแดนเดียวกัน ผสมกับความแฟนตาซีแบบที่ดิสนีย์ถนัดมือ แต่ก็ต้องมาเรียนรู้และนับหนึ่งกันใหม่ เมื่อทีมงานต้องศึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อเนรมิตให้วัฒนธรรมที่ทำออกมาสามารถนำเสนอได้อย่างไม่มีการผิดพลาด หรือทำลายวัฒนธรรมหนึ่งผ่านตัวละครเจ้าหญิงคนใหม่ และจากเอเชียตะวันเฉียงใต้คนแรกของโลกอย่าง รายา หญิงสาวผู้มุ่งมั่นที่จะออกตามหามังกรที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก พญานาค (มีขา?) เพื่อปลดปล่อยอาณาจักรจากความมืดทั้งปวง เรียกได้ว่านอกจากทีมงานจะต้องทำการบ้านใหญ่ โดยได้ชาวไทยอย่างฝน วีรสุนทร ผู้สร้างเจ้าของรางวัลจาก โฟรเซ่น ทั้ง 2 ภาค และ ซูโทเปีย มานั่งแท่นเขียนสตอรี่บอร์ดหรือออกแบบภาพเพื่อให้งานภาพออกมาสวยตามที่มีรายละเอียดมากที่สุดด้วยความตั้งใจ สมทบด้วยฉากแอ็คชั่นระดับหนังบู๊ที่ดิสนีย์ขอจัดเต็มแบบไม่เกรงใจเทพนิยายเรื่องอื่น ๆ ด้วยการคว้าคนเขียนบทจาก อะเดล ลิม เครซี่ ริช เอเชี่ยนส์ เหลี่ยมโบตัน และฉากแอ็คชั่นที่เป็นเอกลักษณ์ที่หยิบนำศิลปะการป้องกันตัวจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ ฉุย เหงียน ซึ่งจะต้องให้รสชาติที่แปลกใหม่และไม่ซ้ำใครแน่ ๆ ที่สำคัญกระบวนการสร้างของภาพยนตร์เรื่องนี้คือ WORK FROM HOME คุยงานผ่านเฟซไทม์ พากย์เสียงผ่านทางไกลในบ้าน ทำทุกอย่างที่บ้านในช่วงยุคโควิด ยิ่งเพิ่มความท้าทายให้ทีมงานเข้าไปอีก แต่ในที่สุดภาพยนตร์ก็ได้คำวิจารณ์ในแง่บวกเรียบร้อยโรงเรียนดิสนีย์ แค่นี้ก็ตื่นเต้นจะแย่อยู่แล้วมาอ่านเรื่องย่อกันก่อนเลย

“คูมันตรา ดินแดนที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีรายา นักรบหญิงพเนจรผู้หลบหนีออกมาจากเหตุร้ายที่คร่าชีวิตครอบครัวของเธอไปจนหมด ปฏิญาณเดียวที่เธอต้องทำและเธอจะไม่เชื่อใจใครทั้งนั้น เธอและสัตว์พาหนะเพื่อนรักของเธออย่างตุ๊ก ตุ๊ก จึงต้องออกเดินทางผ่านห้าอาณาจักรที่ตั้งชื่อตามส่วนต่าง ๆ ของมังกร เพื่อนำผลึกมังกรและมังกรตัวสุดท้าย ชิซู ที่ในตำนานกล่าวไว้ว่า เป็นผู้กอบกู้อาณาจักรในอดีต มาหลอมรวมกันเพื่อสร้างความสงบสุขอีกครั้ง แต่เรื่องมันไม่ง่ายแบบนั้น เมื่อชนเผ่าต่าง ๆ ที่เคยสามัคคีก็ลุกขึ้นมาต่อสู้และแก่งแย่งชิงกันไม่สิ้นสุด ความไม่เชื่อใจเข้าปกคลุมอาณาจักร รายาต้องเรียนรู้ที่จะต่อสู้กับความบาดหมางในอดีตที่เกิดขึ้นกับคนรุ่นก่อน และความสัมพันธ์ที่มีต่อคนรอบตัว หาทางรวมใจทุกเผ่าเพื่อกอบกู้อาณาจักรให้กลับมาหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันอีกครั้ง ก่อนที่ความมืดที่ชั่วร้ายอย่าง ดรูน จะกลืนกินทุกชีวิตในอาณาจักรไปจนหมดสิ้น”

เล่าเรื่องเร็ว ฉับไหว ไม่ต้องคิดอะไรมาก

Raya and The Last Dragon
Raya and The Last Dragon

ก่อนที่รายาจะฉายนั้น มีอนิเมชั่นสั้นตามธรรมเนียมดิสนีย์ให้ดูกันประมาณ 10 นาทีชื่อว่า Us Again เหมือนอย่างเคย เป็นอนิเมชั่นที่ไม่มีบทพูดแต่เป็นเหมือนโชว์ก่อนแสดงของดิสนีย์ซึ่งผมจะไม่สปอยเนื้อเรื่องเพราะมันไม่มีอะไรนอกจากเพลงแจ๊สกับงานภาพสวย ๆ ระดับทอย สตอรี่ให้ดูเพลิน ๆ จากนั้นเมื่อเข้าเรื่องมาก็จะมีกลิ่นอายของความเป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มันลอยเข้ามาเลยด้วยงานภาพสไตล์ตะวันตกแต่ถูกบอกเล่าผ่านสภาพแวดล้อมแบบอาเซียน พลอตแบบอนิเมชั่นที่ชวนให้นึกถึงอนิเมชั่นไทยเรื่องหนึ่งอย่าง 9 ศาตรา (ที่มีแก่นหลักของเรื่องคล้าย ๆ กันรวมถึงการนำเสนอฉากการต่อสู้แบบดุเดือดด้วย) ปมตำนานจุดเริ่มต้นหรืออะไรต่าง ๆ มันคล้าย ๆ กันและค่อนข้างจับต้องง่ายภายในเวลาห้านาที และการเล่าเรื่องนี้เองที่ส่วนตัวมองว่ามันรวบรัดไปหน่อย แป๊บเดียวเรื่องก็ไปข้างหน้าไวมาก ๆ เหมือนกับจะรีบโยนตัวละครให้เข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สุดจะตื่นเต้น เหมือนเป็นสคริปต์ที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับตัวละครอื่น ๆ นอกจากรายา และบทก็ค่อนข้างจะหลวม ๆ ไม่ค่อยแน่น ค่อนข้างที่จะคาดเดาง่าย และแทบไม่ขยี้เรื่องเลย แป๊บเดียวเปลี่ยนเรื่อง เดี๋ยวก็ตลกเดี๋ยวก็เศร้า เปลี่ยนไปเร็วมาก แต่ก็ยังดี ดูได้เพลิน ๆ ไม่มีอะไรให้รู้สึกเบื่อตามมาตรฐานของดิสนีย์อยู่ แค่รู้สึกว่าชอบอนิเมชั่นเรื่องก่อน ๆ มากกว่า แค่นั้น แถมยังรู้สึกว่าโทนเรื่องมันเคยมีมาก่อนใน BRAVE ของพิกซาร์สตูดิโอเดียวกัน มันเลยค่อนข้างเฉย ๆ

ความเข้มข้นระดับหนังซูเปอร์ฮีโร่ผสมหนังผจญภัย

Raya and The Last Dragon

สิ่งที่จะมาช่วยอุดในบทที่หลวมของตัวละครจึงเป็นสภาพแวดล้อมและการนำเสนอ ในแต่ละฉากจะชวนให้เรานึกถึงประเทศไทย อาหารการกิน ผู้คน บ้านเมือง สิ่งของ พื้นที่ต่าง ๆ เป็นการจำลองสถานที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลย รายาก็มีความโดดเด่นในบุคลิกและการต่อสู้และโชว์ให้เห็นมุมที่มากกว่าเจ้าหญิงคนหนึ่งจะเป็นได้ ในขณะชื่อตัวละครเสริมอื่น ๆ ยังเป็นแบบไทย ๆ และมีเสน่ห์แตกต่างกันไปตามดินแดนนั้น ๆ และมีปมเข้มข้นเป็นของตัวเอง ตัวละครประเภทสัตว์โลกหรืออะไรน่ารัก ๆ ก็มีให้ออกมาขำและเอ็นกูกับความน่ารัก นอกจากนี้ฉากและมุมกล้องต่าง ๆ ยังแปลกตา ชวนให้นึกถึงหนังแอ็คชั่น ฉากต่อสู้ระหว่างตัวละครถือว่ายกระดับดิสนีย์ไปเลย เพราะมันมีการตีรันฟันแทงแบบจัดเต็ม มุมกล้องฉับไว และชวนให้นึกถึงหนังผจญภัยอย่าง Indiana Jones and the Last Crusade โดยเฉพาะในช่วงแรก ๆ ของเรื่อง ซึ่งเป็นแบบที่ไม่คาดคิดว่าดิสนีย์จะทำ แม้จะได้ยินว่าได้แรงบันดาลใจจากอินเดียน่า โจนน์ เพราะมีฉากผจญภัยแบบล่าสมบัติเบา ๆ แต่เสียดายที่ไม่ได้ตื่นตามากอย่างที่คิด เหมือนเป็นการเดินทางไปเรื่อย ๆ และจะมีการผจญภัยที่สุดตื่นตราได้บางฉาก แต่ก็ไม่ได้แฟนตาซีจ๋า ๆ ผจญภัยบู๊แหลกราญขนาดนั้น มันจะมีเป็นระยะ ๆ 

การผสมผสานทำให้เราได้เห็นมวยไทย กระบี่กระบองในเรื่องด้วย ซึ่งใครไปดูก็จะเก็ตเลยว่ามันก็คือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี่เอง การต่อสู้จะค่อนข้างมีหมัด มีดาบ มีมวย และแทบไม่มีเรื่องของความรักตามแบบเจ้าหญิงควรจะมีด้วย เพราะตัวละครหลัก ๆ จะเป็นผู้หญิง ผู้ชายแทบจะไม่มีบทเด่นสำคัญหรือมีผลต่อความสัมพันธ์อะไรเหมือนดิสนีย์ และมันก็ทำออกมาได้ดีด้วย แถมเนื้อเรื่องยังค่อนข้างจะเข้มข้นด้วยปมปัญหาของตัวละครที่เข้ามาทำให้ตัวละครดูมีมิติขึ้นมา โดยเฉพาะช่วงต้นเรื่องชวนให้นึกถึงฉากนึงใน อเวนเจอร์ เลยทีเดียว มันทั้งดาร์กโทนเรื่องยังสิ้นหวังและหมองหม่นผิดกับธรรมเนียมดิสนีย์มาก ๆ คิดว่ากลุ่มเป้าหมายน่าจะเป็นคนที่โตขึ้นด้วย เด็กดูอาจจะกลัว เพราะมันโหดมาก ๆ ไม่ได้มีเลือดมีอะไร แต่ทำให้รู้ได้ว่าตัวละครนั้น ๆ ตาย

ความเชื่อใจและความสามัคคีคือพลังที่สำคัญ

ใจความของ Raya and The Last Dragon ก็ไม่มีอะไรใหม่หรือแตกต่างจากที่เราเคยเห็น มันคือความสามัคคีและความเชื่อใจ ซึ่งเป็นแก่นหลักที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือแม้แต่ประเทศไทยก็ยังยึดถือ เราต้องรู้จักที่จะพยายามไว้ใจคนอื่น ก่อนที่จะไม่ไว้ใจใคร เพราะมันไม่สายเกินไปที่จะเปิดโอกาสให้กับผู้อื่น ตัวละครหลักในเรื่องจะมีปมที่ไม่เชื่อใจใคร เพราะมีบาดแผลจากในอดีตทำให้ทำทุกอย่างไปด้วยกำลัง ด้วยความโกรธ ด้วยความหุนหันพลันแล่นจนมักจะทำให้อะไรแย่ลงเรื่อย ๆ เธอมองทุกคนเป็นศัตรูและคิดว่าทุกคนต้องต่อสู้กันถึงจะสามารถสร้างความสงบสุขได้ จนกระทั่งเธอได้เรียนรู้จากการเดินทาง การได้เจอคนรอบ ๆ ตัว ก็ทำให้มุมมองรอบตัวเปลี่ยนไป เธอต้องรู้จักให้ใจคนอื่น มอบความหวังดี และมันจะเปลี่ยนเป็นพลังสำคัญในการต่อสู้กับอุปสรรค หรือทำการใด ๆ ให้สำเร็จ หรือแม้แต่ความเชื่อที่เข้ามาปิดกั้นสิ่งที่คิดอย่างแท้จริง บางครั้งเราอาจจะคิดว่าสิ่งที่กำลังทำ มันดี เพราะเราคิดว่าดี แต่ถ้าเรามีสิ่งที่อยากทำจากใจจริง เราก็ไม่ต้องไปสนใจเสียงของใคร แค่มุ่งหน้าไปและทำมันก็พอ และที่สำคัญเราต้องรู้จักที่จะเชื่อมั่นในตัวเอง และเข้มแข็งแต่ก็อ่อนแอได้ เพราะมันไม่ผิดเลยในการเป็นมนุษย์ที่สามารถพ่ายแพ้ได้ ซึ่งแมสเซจเหล่านี้มันสามารถทำให้ทรงพลังได้ แต่กลับทำออกมาได้พอผ่าน ๆ ไม่ได้รู้สึกลึกซึ้งกินใจจนต้องเสียน้ำตาสักเท่าไหร่ ยกเว้นตอนเดิมพันที่หนักหนามากของตัวละครในท้ายเรื่องที่ทำให้น้ำตาซึมอยู่ เพราะตัวละครของเรื่องทำให้เราอินและสิ้นหวังได้จริง ๆ

ดนตรี งานภาพ วิจิตรอลังการ แต่ว่า

งานภาพตามมาตรฐานดิสนีย์แต่สมจริงขึ้นด้วยดิน น้ำ ลม ไฟ หยดน้ำที่สมจริงยันรายละเอียดของเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ไปจนถึงรูขุมขน บรรยากาศของพื้นที่บ้านเมือง ต่าง ๆ ในเรื่องมีชีวิตชีวาชวนให้นึกถึงประเทศไทย ลาว เวียดนาม เมียนมาร์ และประเทศอื่น ๆ ในส่วนของสิ่งของในเรื่อง ซึ่งนำเสนอออกมาได้ดีมีรายละเอียด และประณีตวิจิตร ทั้งผ้าไหม ผ้าสไบ ลวดลายต่าง ๆ ทำให้เห็นแล้วร้องอ๋อเลยว่า เห้ย นี่มันคล้ายของประเทศเราเลยทีเดียว แต่ถ้าถามหาความเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แบบจริง ๆ จัง ๆ ในพื้นที่ อาจจะต้องแอบผิดหวังเพราะเอาจริง ๆ มันเหมือนหยิบเอาส่วนเด่น ๆ ของบางประเทศมาใช้มากกว่า แต่เข้าใจว่าคงเอามาทั้งหมดไม่ได้แน่ ๆ เพราะมันเยอะมาก ๆ เลยในทวีปเรา ทำให้พื้นที่อาณาจักรต่าง ๆ ในเรื่องมันก็ถูกเล่าแบบพอหอมปากหอมคอไม่ได้มีความหลากหลายขนาดนั้น ยิ่งเมื่อเรื่องราวมันเล่าไว โลกของหนังมันจึงค่อนข้างเล็ก ๆ และไม่ค่อยมีจุดเด่นเป็นของตัวเอง เหมือนเดินทางไปแบบผ่าน ๆ ให้เห็นวัฒนธรรมดินแดนนั้น ๆ เหมือนเอามายำเฉย ๆ เช่นตัวละคร ชิซู พญานาคตามเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ดันถูกปรับตามแบบตะวันตกให้เป็นมังกรที่มีขาที่ดูแล้วก็แอบแหม่ง ๆ ไหนจะบทพูดหรือมุกตลกที่บางทีก็ดูทันสมัยผิดกับยุคที่ตัวละครอยู่ แต่ในส่วนของการเคลื่อนไหวคือเป็นธรรมชาติสมจริงและพริ้วไหวมาตรฐานของดิสนีย์ในยุคหลัง ๆ

เรื่องของเสียงเพลงบรรเลงในเรื่องก็ไพเราะ อลังการ มีกลิ่นอายของเครื่องดนตรีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เจือจางเล็ก ๆ เสริมบรรยากาศในเรื่อง แต่ก็ไม่ได้โดดเด่นติดหูนัก จะมีก็แต่เพลงประกอบช่วงท้ายแบบป๊อบที่พอจะเป็นที่ติดหูบ้าง เพราะความหมายของเพลงคือใจความสำคัญของเรื่อง ส่วนในเสียงพากย์ของตัวละครหลักอย่าง รายา ที่ได้นักแสดงดาราสาวอย่าง ญาญ่า อุรัสยา เสปอร์บันด์ ก็ต้องบอกว่าไม่มีอะไรติดขัด ญาญ่าสอบผ่านในการเป็นรายาครับ เก็บรายละเอียดของตัวละครมาเป็นอย่างดีและสามารถมีเคมีกับตัวละครอื่นที่เป็นนักพากย์มืออาชีพได้อย่างกลมกลืน ซึ่งถือว่าผิดคาดมาก เพราะตอนแรกแอบทำใจไว้ว่ามันจะต้องพอใช้ได้แค่นั้น แต่ญาญ่าทำได้ดีแม้จะมีจริตของตัวเองที่เป็นญาญ่าและมีเสียงไม่แข็งกร้าวเท่าต้นฉบับ แต่เวลาตัวละครรายาพูดจามันก็ชัดเจนหนักแน่นและทรงพลังจริง ๆ ตามโทนเสียง เพราะงั้นถ้าใครที่กลัวว่าพากย์ไทยจะห่วย ก็ไม่ต้องกังวลไป ญาญ่าพากย์ดี ตัวละครอื่น ๆ ก็มาตรฐานนักพากย์ครับ เคมี ดิสนีย์คงไม่ปล่อยให้รายาออกมาแบ๊ว ๆ พยายามห้าวแต่ผิดโทนเสียงตัวละครอย่างที่เราคิดกันแน่นอน (ถ้าไม่นับช่วงแรกที่เล่าเรื่องแล้วติดเสียงแบบโฆษณาพยายามจะห้าว) ที่ทึ่งคือรายาของญาญ่าเข้าขากับนักพากย์มืออาชีพอย่างเป็นธรรมชาติและมีเสน่ห์เก็บรายละเอียด เขาส่งอารมณ์ไหนมา ญ่าปามันกลับไปได้หมด ไม่แผ่วเลย บอกได้เลยว่าถ้าฝึกฝนพัฒนาฝีมือมากกว่านี้เป็นนักพากย์อาชีพได้สบายเลย ในขณะที่คุณพิม พิมพิดา พิทักษ์สงคราม ที่ได้มาพากย์เสียงภาพยนตร์เป็นครั้งแรกในฐานะนักพากย์น้องใหม่ของดิสนีย์ ก็ทำออกมาได้ดีจนนึกว่าเป็นอควาฟีน่าพูดไทยเลยทีเดียว เธอสามารถถ่ายทอดซีซูที่มีความขี้เล่น แต่ก็จริงจัง และบางครั้งก็สามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกที่โดดเด่น และเคมีเข้าขากับญาญ่ามาก ๆ จนน่าตกใจเลย

ควรชมหรือควรข้าม

Raya and The Last Dragon

ถือเป็นก้าวแรกของดิสนีย์ในการหยิบนำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของดิสนีย์ที่ไม่ได้แย่ ดีตามมาตรฐาน พอจะตีตลาดเป้าหมายเอเชียได้ แต่ในภาพรวมไม่มีอะไรน่าจดจำ โดดเด่น แม้จะมีความแตกต่างจากงานดิสนีย์ก่อนหน้าในทางการนำเสนอเจ้าหญิงดิสนีย์ที่จับต้องง่ายด้วยความติดดินและวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกับคนไทย งานภาพและดีไซน์วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ก็สวยดีมีรายละเอียดแต่นำเสนอออกมาแบบพอผ่าน ๆ แต่ด้วยประเด็นของเรื่องที่เข้มข้นแม้ไม่ได้ขยี้อะไรมาก และฉากแอ็คชั่นสุดดุเดือด พล็อตที่คาดเดาง่าย เล่าเรื่องไวจนไม่มีการขยี้ประเด็นอื่น ๆ ของตัวละครให้เรารู้สึกอินตามมากกว่าการได้เห็นวัฒนธรรมของทวีปตัวเองมาโลดเล่นอยู่บนจอภาพยนตร์ แต่งานภาพและเสียงเพลงประกอบ กับเสียงพากย์ของตัวละครทุกตัวก็ต้องบอกเลยว่าใส่ใจในทุกรายละเอียด ทำให้รายากับมังกรสุดท้าย เป็นเหมือนยำใหญ่ที่ทานพออร่อยแต่ไม่ค่อยอยากทานเป็นครั้งที่สองสักเท่าไหร่ ฝรั่งคงจะอินเพราะไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้ในงานอเมริกันมากกว่า แต่ผมค่อนข้างเฉย ๆ ไปทางชอบแต่ไม่มาก อย่างน้อยถ้าพาครอบครัวลูกหลานไปดูก็ต้องไม่ผิดหวังและเสียดายเงิน มีเวลาว่างก็หาเวลาไปดูได้ครับ เพราะดูได้ทุกเพศทุกวัย แค่เนื้อเรื่องบางช่วงของเรื่องอาจจะมืดหม่นหน่อย ๆ นึงเท่านั้น

ตัวอย่างล่าสุด Raya and The Last Dragon รายากับมังกรตัวสุดท้าย

 

Raya and The Last Dragon รายากับมังกรตัวสุดท้าย

วันนี้ ในโรงภาพยนตร์

  • ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจในแวดวงเกม รีวิวภาพยนตร์ ซีรีส์ และ อนิเมะ ได้ ที่นี่
  • ติดตามผลงานของผม Thousand Mar ได้ ที่นี่
The Devil’s Hour ช่วงเวลาปีศาจ ตี 3.33 นาที ที่เต็มไปด้วยเรื่องเซอร์ไพรส์เกินคาด!