“Epic VS Steam” เมื่อผู้สร้าง Unreal Engine ประกาศสงครามกับ Valve ผู้ให้กำเนิดระบบ Digital Distribution
เมื่อ Epic และ Valve เปิดกลยุทธ์เข้าแย่งชิงฐานลูกค้าและผู้พัฒนากันในฐานะ Digital Distributor อย่างร้อนระอุ! เกมเมอร์ชาว PC ได้รับผลกระทบอย่างไร?
Epic และ Valve กับการแย่งชิงผู้พัฒนาที่ยังทวีความร้อนระอุ
Epic และ Valve ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายเกมในรูปแบบ Digital ทั้งคู่ ยังคงเปิดกลยุทธ์เข้าใส่กันอย่างร้อนแรงทั้งแบบรุกและตั้งรับเพื่อเข้าแย่งชิงกลุ่มฐานลูกค้าเกม PC มาตั้งแต่ปลายปี 2018 และดูเหมือนว่ามันจะยิ่งทวีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ จนนักวิเคราะห์ในแวดวงอุตสาหกรรมเองมักจะให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า “การแข่งขันเพื่อแย่งส่วนแบ่งระหว่างแพลตฟอร์ตนี้ อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในแวดวงอุตสาหกรรมเกม PC อีกครั้ง” (แพลตฟอร์มในที่นี้หมายถึง หน้าร้านผู้จัดจำหน่ายแต่ละรายนะครับ)
การเปลี่ยนแปลงที่ว่าอาจจะไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เพียงแค่ผู้พัฒนาพากันหนีจากแพลตฟอร์มหนึ่งและนำเกมของตัวเองไปขายให้กับแพลตฟอร์มคู่แข่งเพียงอย่างเดียว แต่มันอาจจะส่งผลกระทบในวงกว้างคล้ายกับการถือกำเนิดของ Steam เองเมื่อ 16 ปีก่อน (2003) ซึ่งก่อกำเนิดการขายเกมในรูปแบบ Digital อย่างเป็นทางการ และค่อยๆ กินส่วนแบ่งทางตลาดของเกมกล่องจนแทบจะหดหายไปจากแวดวงในปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเรื่องเล็กๆ ที่ไม่มีใครคาดคิดในวันนั้น จะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของนักเล่นวีดีโอเกมได้มากมายอย่างทุกวันนี้ และการแข่งขันกันระหว่าง Epic Store กับ Steam แบบเจาะจงอย่างที่เป็นอยู่ ก็อาจจะส่งผลให้เกิดอะไรบางอย่างได้ต่อไปเช่นกัน
สำหรับใครที่ไม่ได้ติดตามข่าวของ Epic Store กับ Steam มาตั้งแต่ต้น สาเหตุที่ทำให้ Epic มุ่งเน้นแข่งขันกับ Steam โดยตรงนั้น อ้างอิงจากคำกล่าวของ “Tim Sweeney” CEO ของ Epic Game ในช่วงสิงหาคม 2017 เขาระบุไว้ว่า
“ในฐานะผู้พัฒนาเกมเองส่วนแบ่งที่ถูกหักราว 30% จาก Valve เมื่อขายเกมได้นั้นไม่สมเหตุผลเลยแม้แต่น้อย Valve ยังคงได้กำไรอยู่ดีแม้ว่าพวกเค้าจะรับส่วนแบ่งแค่ 8%”
และคำพูดนี้เองที่จุดประกายเรื่องราวทั้งหมด มันเหมือนเป็นการสื่อสารเชิงการตลาดระหว่างผู้พัฒนากับผู้พัฒนาด้วยกันเองที่อยากเห็นระบบการขายเกมที่ให้ผลตอบแทนอันยุติธรรม (แต่สิ่งที่ Tim ไม่ได้ขยายความให้ชัดเจนคือ ส่วนแบ่ง 30% นั้นเป็นเรื่องปกติและเป็นมาตรฐานสำหรับ App store แทบจะทุกที่อยู่แล้ว) และในวันที่ 6 ธันวาคม 2018 Epic ก็ได้ประกาศเปิด Epic Store อย่างเป็นทางการ เพื่อทำการแข่งขันกับ Steam ของ Valve โดยเฉพาะ พร้อมทั้งยื่นข้อเสนอแก่ผู้พัฒนาว่าการขายเกมบน Epic Store คุณจะเสียส่วนแบ่งแค่ 12% เท่านั้น 88% ของยอดขายคือสิ่งที่ผู้พัฒนาจะได้รับไปเต็มๆ เงื่อนไขลักษณะนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนไม่ว่าจะเป็นหน้าร้าน Digital ของเจ้าไหน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่ามีผู้พัฒนาเกมแนวอินดี้หลายรายให้ความสนใจกับการเชิญชวนนี้เหมือนกัน
Epic เองก็ยังคงต้องการเกมใหญ่ระดับแม่เหล็กบนหน้าร้านของตัวเองเพื่อดึงคนให้เข้ามาใช้งานมากขึ้น เหตุนี้จึงทำให้เกิดการพยายามจับมือกับค่ายเกมใหญ่ และเกมระดับ AAA เกมแรกที่ถูกดึงตัวมาก็คือ The Division 2 ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีหน้าจัดจำหน่ายอยู่บน steam มาก่อนแล้วเพียงแค่ยังไม่เคยเปิดให้ Pre-order เท่านั้น การทำข้อตกลงระหว่าง Epic และ Ubisoft ทำให้ The Division 2 ถูกถอดออกจาก Steam เมื่อต้นเดือนมกราคม 2019 และกลายเป็น Exclusive บน Epic Store กับ Uplay ไปโดยปริยาย เรื่องนี้มองเผินๆ ก็เป็นการแข่งขันทางการตลาดที่พึงกระทำได้ เพราะตัวเกมยังห่างไกลจากวันวางจำหน่ายแถมยังไมได้เปิดให้คนจองล่วงหน้า แต่การพยายามดึงเกมใหญ่เกมต่อมาอย่าง Metro Exodus ซึ่งเกิดจากการที่ Deep Silver ประกาศจับมือกับ Epic Store นั้นดันกลายเป็นคนละเรื่อง แม้มันจะเป็นสิ่งที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องของการตลาดได้ แต่ในอีกมุมมองหนึ่งทั้งจากสื่อนอกหลายๆแห่ง นักวิเคราะห์เรื่องการตลาด กระทั่งชุมชนคนเล่นเกมขนาดใหญ่ ต่างก็มองว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ เพราะเกมมีการเปิดให้จองล่วงหน้าบน Steam มาแล้วถึง 6 เดือน ทั้งยังใช้ระบบต่างๆของ Steam ในการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์กับแฟนเกมมาโดยตลอด การประกาศหยุดขายเกมบน Steam เพียงแค่ 17 วันก่อนวางจำหน่ายและย้ายไปขายที่ Epic Store ทันที ทำให้การทำสัญญาระหว่าง Deep Silver กับ Epic ในครั้งนี้ มีกระแสต่อต้านมากเกินคาด
กลยุทธ์ทางการตลาดหรือมารยาทในการทำการค้า?
การทุ่มเงินให้ผู้พัฒนาเพื่อนำเกมของค่ายไปเป็น Exclusive ให้ร้านหรือเครื่องเกมโดยเฉพาะไม่ใช่ว่าไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เช่น กรณีที่ Microsoft จ่ายเงินให้ Crystal Dynamic ขาย Rise of the Tomb Raider บนเครื่องของตัวเองก่อนครึ่งปี หรือเอาที่เกี่ยวกับ Epic Store เองโดยตรงก็อย่างการยื่นข้อเสนอพิเศษทำให้ Division 2 โดดหนีจาก Steam ไปลงให้กับ Epic Store โดยเฉพาะ แต่สำหรับกรณีของ Metro Exodus นั้นมีความแตกต่างอยู่ เนื่องจากการประกาศหยุดจำหน่ายเกมบน Steam นั้นเกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่กี่วันก่อนวางจำหน่ายและเปิดขายล่วงหน้ามายาวนานพอสมควรแล้ว สิ่งนี้ทำให้ผู้เล่นที่มีความ Loyalty ต่อ Steam จำนวนมากตั้งคำถามว่าการตัดสินใจของ Deep Silver ในครั้งนี้มันยุติธรรมต่อคนเล่น คนที่รอจะซื้อเล่น และคนที่ซื้อไปแล้วบน Steam หรือไม่? Deep Silver ออกมารับรองเรื่องนี้ด้วยการยืนยันว่าคนที่ซื้อไปแล้วจะยังได้รับเกมและเนื้อหาเสริมครบทุกประการ โดยตัวเกมจะไปเป็น Time Exclusive บน Epic Store ระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น
“Metro Exodus จะกลับมาวางขายบน Steam และหน้าร้านอื่นๆอีกครั้ง
ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2020 หรือ 1 ปีเต็มหลังการวางจำหน่ายปกติ”
การประกาศนี้ทำให้ฟอรั่มของ Metro ทั้งบน Steam หรือชุมชนขนาดใหญ่อย่าง Reddit ถึงกับมีการแสดงความเห็นกันอย่างดุเดือดชนิดที่ว่า “No Steam No Buy” ส่วนคนที่ไม่รู้สึกอะไรเลยก็มีเช่นกัน ในขณะที่คนเล่นเกมบางคนที่ซื้อเกมบน Steam ไว้ก่อนแล้วก็ถึงกับลั่นปากจะเลิกสนับสนุน Deep Silver โดยทำเรื่องคืนเงินเกมที่กดมาก็มีด้วยเหมือนกัน มีแม้กระทั่งก่นด่าบอกว่าต่อให้เอากลับมาขายอีกก็จะไม่เล่น กลายเป็นเรื่องดราม่าใหญ่โตจนผู้เล่นพากันไปถล่ม Review Bomb กับเกม Metro ภาคเก่าๆบนหน้าร้าน Steam แตกต่างกับกรณีการดึงเกม Division 2 จาก Ubisoft ราวฟ้ากะเหว ซึ่งมันยังนำไปสู่การตั้งคำถามของสื่ออย่าง PC Gamer ต่อผู้พัฒนาเกมที่เอาเกมมาขายบน Steam หลายๆ รายแบบลอยๆ ต่อไปด้วยว่า
“พวกคุณมีความ Loyalty ต่อหน้าร้านค้าที่คุณเอาเกมมาจำหน่ายมากน้อยแค่ไหนกันแน่?”
ผลสรุป ณ ตอนนี้หากมองในมุมของทั้ง Epic และ Valve ฝั่ง Epic เองเหมือนจะลอยตัวที่สุด เพราะเกมก็ได้ไปในขณะที่ยังได้ Deep Silver มาเป็นคนคอยรับหมัดรับแรงกระแทกจากผู้เล่นที่มาจาก Steam ซึ่ง Valve เป็นเจ้าของ รวมถึงคนที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผมรู้สึกว่าการตัดสินใจของ Deep Silver ครั้งนี้ไม่ค่อยจะเข้าท่านัก เพราะแม้จะแบ่งรับแบ่งสู้โดยไม่เอาเกมไปแล้วไปลับ แต่ก็ไม่สามารถการันตีได้ว่าส่วนแบ่ง 88% ที่ได้รับจากยอดขายทั้งหมดบน Epic Store จะคุ้มกับชื่อเสียงที่เสียไปรอบนี้ได้มากน้อยแค่ไหนอยู่ดี
เหตุการณ์นี้จะส่งผลต่อผู้พัฒนาอื่นๆ อย่างไร? จะส่งผลต่อผู้เล่นมากขนาดไหน? จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรได้อีกบ้าง? อันนี้คงไม่มีใครล่วงรู้ได้ชัดเจนนัก แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนเล่นเกมเองก็เริ่มมีให้เห็นแล้วบางส่วน อาทิ พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในการตัดสินใจซื้อ หลายคนตัดสินใจไม่เล่นบางเกมไปเลยเพราะความไม่สะดวกในการใช้งาน Launcher หลายตัว ในขณะที่บางคนก็บอกว่าไม่มีปัญหาอะไรเพราะสุดท้ายก็ได้เล่นเกมเหมือนกันไม่ว่าใครจะเป็นคนขาย บางคนถึงกับบอกว่าถ้ามันเรื่องเยอะนักก็ไปซื้อคอนโซลมาเล่นเลยดีกว่า และที่น่าสนใจกว่าก็คือ การถกประเด็นเรื่องของการพยายามทำให้เกม PC บางเกมกลายเป็นเกม “Exclusive” สำหรับหน้าร้านแบบ Digital ที่จำหน่ายโดยเฉพาะว่า มันมีความเหมาะสมมากน้อยแค่ไหน?
ถ้าหากคุณเป็นคนเล่นเกม PC ที่ติดตามข่าวสารในแวดวงมายาวนาน คุณจะพบว่าไม่เคยมียุคไหนที่มีการเปลี่ยนหน้าร้านค้าแบบกระทันหัน หรือเกม PC ระดับ AAA จากค่ายใหญ่ที่ตัดสินใจจัดจำหน่ายเกมของตนเองแบบ Exclusive บนร้านค้าแห่งอื่นที่ไม่ใช่ของตัวเอง (Exclusive ในกรณีนี้หมายถึงจัดจำหน่ายเกมบนร้านเพียงแห่งเดียวโดยไม่เปิดกว้างนำไปขายในร้านอื่นๆ รวมถึงการใช้ Launcher ซึ่งเป็น DRM เฉพาะของตัวเองในการเล่นโดยตรงด้วย) สาเหตุหนึ่งอาจจะเป็นเพราะความต้องการเรื่องยอดขายและกลุ่มผู้เล่นเกม PC เองก็แทบจะไม่ได้เจาะจงอยู่กันบนแพลตฟอร์มใหญ่เพียงที่เดียวอยู่แล้ว กระทั่ง Microsoft เองที่มุ่งเน้นทำตลาดทั้งคอนโซลและ PC ก็ไม่เคยมีเกมไหนถูกจัดเป็น Exclusive แท้จริง และไม่เคยมีการดึงเกมจากผู้พัฒนารายที่ 3 เข้ามาล็อกไว้กับหน้าร้านตัวเองอย่างที่กำลังเกิดขึ้นบน Epic Store ด้วย ตลอดเวลาที่ผ่านมาคนเล่นเกม PC จึงค่อนข้างจะรู้สึกชิลกับเรื่องนี้มากถึงกับมีคำพูดเล่นๆ ว่า
“มันไม่มีเกม Exclusive จริงๆ บน PC หรอก!”
เพราะสุดท้ายเกมแต่ละค่ายเองก็พยายามจะหาหน้าร้านในการจัดจำหน่ายเพิ่มเติมเพื่อช่วยเร่งยอดขายให้ได้มากขึ้นอยู่ดี เทียบกับฝั่งคอนโซลที่ตัวเกมผูกติดกับชนิดของเครื่องโดยตรงมาโดยตลอดและได้รับทุนในการพัฒนาเกมที่เป็นเรือธงจากบริษัทเจ้าของเครื่องเกมอย่าง Sony, Nintendo หรือ Microsoft เป็นหลัก คำว่า Exclusive สำหรับคอนโซลและ PC จึงให้ความรู้สึกที่ต่างกันทั้งเรื่องมุมมองและความเป็นจริง สำหรับคอนโซลคุณชอบเกมไหนก็เจาะจงซื้อเครื่องเกมที่เกมนั้นลงให้ก็เป็นอันจบ ผูกขาดกันไปยาวๆ ผู้เล่นได้เกมคุณภาพ ผู้พัฒนาได้ความ Loyalty จากกลุ่มฐานลูกค้า แต่บน PC มันกลับไม่ได้ง่ายหรือเป็นเรื่องที่จะเข้าใจได้ง่ายแบบนั้น ซึ่งเมื่อเกิดเรื่องเหตุการณ์นี้ขึ้น ความเป็น Exclusive ในทุกลักษณะจึงกลายเป็นคำถามให้ชวนคิดกันอีกครั้ง
Blizzard กับ Origin ไม่ใช่ Exclusive?
หลายความเห็นจากเวปบอร์ดหลายแห่งที่ผมเข้าไปค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ มักจะมีการโยง 2 บริษัทดังกล่าวเข้ามาเปรียบเทียบกับการกระทำของ Epic ซึ่งผมมองว่ามันก็อาจจะนำไปเปรียบเทียบได้ในบางมุมมอง และก็ไม่สามารถเทียบได้ในบางมุมมองด้วยเช่นกัน ถ้าจะพูดว่า Blizzard กับ Origin นั้นใช้แพลตฟอร์มของตัวเองขายเกมเป็น Exclusive ก็ไม่ถือว่าผิดนัก แต่มันมีความแตกต่างกันอยู่ในเรื่องของรายละเอียดและการกระทำเพราะทั้งคู่มุ่งเน้นทำเพื่อขายเกมของค่ายตัวเองเป็นหลัก Blizzard พัฒนา Battle.net ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นระบบ Online สำหรับสนับสนุนเกมในค่ายและต่อมาถึงเพิ่มหน้าร้านสำหรับจัดจำหน่ายเกมของค่ายตัวเองหรือบริษัทในเครือ Activision เข้ามา แม้ปัจจุบันจะมี Destiny 2 จาก Bungie ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Microsoft มาใช้แพลตฟอร์มร่วมเพื่อขายด้วย แต่ก็เป็นการทำสัญญากันในระหว่างที่เกมกำลังพัฒนาโดยยังไม่เคยไปขึ้นหน้าร้านของ PC ที่ไหน และการตกลงเพื่อใช้ระบบของ Battle.net สนับสนุนตัวเกมโดยตรง (ทั้ง Friend list ระบบ Community, VOIP กระทั่งการล็อกอิน) ทำให้มันมีขายเฉพาะบน Battle.net ไปโดยปริยาย และท้ายที่สุดแล้ว Battle.net จาก Blizzard เองก็ไม่ได้มีแนวโน้มจะเปิดเป็นร้านค้าเต็มตัวหรือรองรับเกมจากผู้พัฒนาทั่วไปเอาเข้ามาขายด้วย
ส่วน Origin เอง จุดประสงค์ที่สร้างขึ้นมาก็เพื่อเป็นร้านค้าสำหรับขายเกมของ EA และบริษัทในเครือเหมือนกัน เนื่องด้วย EA มีบริษัทลูกจำนวนมากที่สามารถพัฒนาเกมได้อย่างมีประสิทธิภาพ การลงทุนทำแพลตฟอร์มสำหรับขายเกมจึงเป็นเรื่องที่คุ้มค่ามากกว่าการนำไปขายบนแพลตฟอร์มอื่นๆ และแม้ EA เองจะมี Third Party ที่เอาเกมมาขายด้วย แต่เกมส่วนมากก็มีจำหน่ายบนหน้าร้านแห่งอื่นด้วยเช่นกัน ถ้าไม่นับเกมที่พัฒนาในค่ายตัวเองก็แทบจะไม่มีการทุ่มเงินไปซื้อเกมจากค่ายไหนมาเป็น Exclusive เลยซักเกมเดียว ซึ่งเรื่องนี้ถ้าจะให้แฟร์ๆ สุดก็ไม่ควรเอา Blizzard กับ Origin ไปเทียบกับ Epic Store แต่ถ้าอยากจะเทียบกันจริงๆ แล้ว การเอาเงินทุ่มใส่ผู้พัฒนาหลายรายของ Epic เพื่อดึงเกมไปเป็น Exclusive โดยเฉพาะกรณีของ Metro Exodus ที่ทำสัญญาโค้งสุดท้ายกับ Deep Silver ก็ยังคงถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกไม่ควรทางมารยาทในการทำการค้า ซึ่ง 2 ค่ายที่ถูกยกมาเปรียบเทียบเองก็ไม่เคยทำอะไรแบบนี้เช่นกัน
การตอบโต้ของ Steam
ปัจจุบัน Steam มีฐานผู้เล่นซึ่งเป็นลูกค้าบนแพลตฟอร์มรวมทั้งสิ้น 150 ล้านคน (2018) และมีผู้ใช้งานออนไลน์พร้อมกันสูงสุดตามที่บันทึกไว้ถึง 18.5 ล้านแอคเคาร์ นั่นทำให้ Steam ยังคงเป็นแพลตฟอร์มที่มีฐานลูกค้ามากที่สุดและมีจำนวนผู้พัฒนาเกมที่เข้าใช้หน้าร้านมากที่สุดตามไปด้วย และจากสถิติในปี 2018 ยอดเงินที่ผู้เล่นใช้จ่ายเพื่อซื้อเกมผ่านระบบของ Steam เองก็รวมแล้วสูงถึง 4.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 18% ของยอดขายเกม PC จากแหล่งต่างๆ ทั่วโลกที่นำมารวมกัน (และถ้าคุณไม่ลืม Valve ยังมี CS, TF2, Dota 2 และ Artifact ที่สนับสนุนเงินทุนได้ในระยะยาวอีก) อีกทั้ง Steam เองยังมีระบบต่างๆ ที่เป็นมิตรต่อผู้เล่นจนทำให้มันเป็นอะไรมากกว่าแค่ร้านค้าเกมเพียงอย่างเดียว ระบบส่วนใหญ่ยกระดับสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเกมบนแพลตฟอร์มและทำให้มันกลายเป็นศูนย์รวมหลักสำหรับผู้ที่สนใจในเกมนั้นๆ (Forum, Screenshot, Support, Cloud save, Community Hub, Workshop, Curators หรือกระทั่ง Green light ที่เปลี่ยนเป็น Steam Direct ในปัจจุบัน) พูดได้เต็มปากเลยว่า ณ วันนี้สำหรับเกม PC เอง Steam ก็ยังคงเป็นผู้จัดจำหน่ายที่ใหญ่ที่สุด เป็นยักษ์ใหญ่ที่อยู่แถวหน้าสุดในวงการเลยก็ว่าได้ วิธีการหรือกลยุทธ์ที่ Epic ใช้นั้นอาจจะไม่ส่งผลอะไรเลยกับยักษ์ตนนี้ เนื่องจากผู้ใช้งานที่ Loyalty กับ Steam เองก็ยังคงมีอยู่มาก เราคงต้องไปจับตาดูดูกันที่ยอดขายของเกมที่ย้ายไป Epic Store แล้วเอามาเทียบกันในระยะยาวอีกที แต่สิ่งที่ Epic ทำอยู่นี้ก็ปฏิเสธไมได้ว่ามันทำให้ป้อมปราการอันแข็งแกร่งอย่าง Steam เริ่มจะมีรอยรั่ว และรอยรั่วนั้นถ้าปล่อยไว้เฉยๆโดยไม่ทำอะไรหรือหาทางแก้ไข วันหนึ่งมันก็อาจจะเป็นสาเหตุทำให้ “ป้อม” ดังกล่าวถล่มลงมาได้ง่ายๆ เหมือนกัน
สิ่งแรกที่ Steam ทำหลังจากมีการหยิบเรื่องส่วนแบ่งมาโจมตีระบบการขายเกมก็คือ Steam พยายามปรับลดเรื่องส่วนแบ่งให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นจากเดิม 30% คงที่กลายเป็น 25% เมื่อเกมทำรายได้มากกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐ และเก็บแค่ 20% เมื่อยอดขายทำรายได้มากกว่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งดูเหมือนว่าการพยายามปรับลดในครั้งนี้จะเป็นการยื่นข้อเสนอเพื่อรักษาผู้พัฒนาเกมระดับ AAA หรือค่ายใหญ่ๆ มากกว่า เพราะตัวเลขที่เปลี่ยนไปนั้นแทบจะไม่ได้ทำให้ส่วนแบ่งนั้นแตกต่างออกไปเลยสำหรับเกมจากค่ายเล็กหรือเกมอินดี้จำนวนมากที่มีอยู่ และหลังจากการประกาศหยุดจำหน่าย Metro Exodus บน Steam ของ Deep Silver ทาง Steam เองก็ออกมาเคลื่อนไหว โดยการออกข้อความชี้แจงและขอโทษลูกค้าของ Steam พร้อมประณามการกระทำดังกล่าวของ Deep Silver ว่าไม่ยุติธรรมต่อลูกค้าอย่างที่คุณเห็นในภาพ ส่วนมาตรการหลังจากนี้เรายังคงไม่รู้ว่า Steam เองจะเดินกลยุทธ์อย่างไร พวกเขาอาจสร้างเงื่อนไขใน Policy สำหรับผู้พัฒนาให้มีเพิ่มขึ้น หรือแม้กระทั่งความเป็นไปได้ที่จะมีระบบค่าปรับสำหรับผู้พัฒนาที่ถอดเกมออกจากหน้าร้านโดยไม่แจ้งล่วงหน้า เรียกว่าอะไรก็อาจจะเกิดขึ้นได้หลังจากนี้
ผลกระทบกับเกมเมอร์ที่ยากจะหลีกเลี่ยง
การแข่งขันของหน้าร้านที่มากขึ้น อาจช่วยเปิดทางเลือกใหม่ๆ ในให้กับคนเล่นเกมและผู้พัฒนาในอนาคต เช่น ราคาขายเกมอาจถูกลง ระบบและการสนับสนุนดีขึ้น หรืออะไรอีกหลายๆ อย่างที่อยู่เหนือการคาดเดา ทั้งหมดนี้คือเรื่องของอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วซักพักและกระทบกับคนเล่นเกมบน PC จากการพยายามผลักดันหน้าร้านของตัวเองโดยค่ายเกมใหญ่ๆ ทำให้เกิด Launcher ในการเล่นเกมเพิ่มมากขึ้นตามมาด้วย ซึ่งเราก็ยังไม่รู้ว่าเงื่อนไขการใช้งานแพลตฟอร์มต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตนั้น จะแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน? จะเป็นมิตรกับผู้เล่นมั้ย? ราคาขายเกมจะเป็นราคากลางหรือเป็น Regional price? ตลอดจนชุมชนคนทำ Mod ที่อาจถูกจำกัดด้วยสิทธิ์และเงื่อนไขซึ่งแตกต่างกันในแต่ละแพลตฟอร์มด้วยเช่นกัน แต่อย่างว่าครับ อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด คนเล่นอย่างเราๆคงทำอะไรไม่ได้มาก คุณก็คงต้องไปปรับตัวกัน
พูดถึงเรื่องการใช้ Launcher หลายๆ ตัวติดตั้งไว้ในเครื่องและเอามาใช้เพื่อเล่นเกมของหลายๆ ค่ายกันซักนิด เพราะมันเป็นเรื่องที่มักถูกยกมาพูดถึงกับกรณีที่เกิดขึ้นอย่างมาก เรื่องนี้อาจจะไม่ใช่ปัญหาสำหรับทุกคน แต่ก็ต้องยอมรับว่าคนที่ไม่สะดวกใจที่จะใช้มันเพื่อเล่นเกมเพียงแค่ไม่กี่เกมที่ถูกล็อกไว้หลัง store ของค่ายเกมก็ยังมีอยู่ด้วยเช่นกัน มันอาจจะไม่ใช่แค่เรื่องความสะดวกในการติดตั้งหรือการใช้งาน อาจไม่ใช่เรื่องของความ Loyalty ที่มีกับ Launcher ตัวใดตัวหนึ่ง แต่อาจจะเป็นเรื่องความไม่พร้อมที่จะยื่นข้อมูลบัตรเครดิตให้กับผู้จัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นอีก 1 รายแทนก็ได้ ไหนจะเรื่องการสร้างแอคเคาร์จำนวนมากมายเพียงเพื่อเอามาเล่นเกมไม่กี่เกมด้วย
ณ ปัจจุบันถ้าคุณต้องการจะเล่นเกม PC ให้ครบทุกเกมแบบไม่ติดขัดข้อจำกัดเรื่องความเป็น Exclusive เลย คุณต้องใช้ Launcher จากค่ายหลักๆ ถึง 7 ตัวติดตั้งไว้ในเครื่องได้แก่ Steam, Origin, Uplay, Battle.net, Window Store, Bethesda Launcher และ Epic Store แล้วในอนาคตที่ยังไม่รู้แน่นอนข้างหน้า มันอาจจะมีมากยิ่งกว่านี้อีก หากมีร้านค้าแห่งใหม่เปิดตัวขึ้นมาและยื่นข้อเสนอที่ดีกว่า Epic Store (สมมุติว่าเอาแค่ 5-8% ไรงี้) ทำให้เกมแห่กันไปลงจนกลายเป็น Exclusive หมดแบบนี้อีก ในฐานะผู้ใช้งานและคนเล่นเกม เราจะยอมรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ มันอาจไม่ได้สำคัญว่าคุณจะเล่นเกมจากทุกค่ายมั้ยหรือจะติดตั้งมันทั้งหมดไว้ในเครื่องด้วยเปล่า? สิ่งที่สำคัญคือ ทิศทางของการจัดจำหน่ายเกม PC ในปัจจุบันมันกำลังเป็นไปในแบบนี้ ค่ายใหญ่ๆ หลายแห่งกำลังผลักดันแพลตฟอร์มการจัดจำหน่ายของตัวเองเพื่อผลกำไรสูงสุด และมันจะกระทบกับคนเล่นเกมอย่างเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่งแน่ๆ เราควรจะรู้สึกโอเคกับเรื่องนี้หรือไม่? อย่างไร? และเราทำอะไรได้บ้างกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในตลาดระดับสากล? อันนี้คงต้องทิ้งไว้เป็นคำถามให้คุณได้เอาไปคิดกันต่อและค้นหาคำตอบด้วยตัวเองกันอีกทีครับ
ขึ้นชื่อว่าสงครามความยุติธรรมนั้นไม่เคยมีอยู่แล้ว ใครกลยุทธ์ดีหรือมีไม้เด็ดอะไรก็อาจจะคว้าชัยไปได้ง่ายๆเหมือนกัน แต่สงครามระหว่าง Epic และ Valve ที่เกิดขึ้นนี้แม้จะร้อนแรงยังกะรบพุ่งกันมาหลายปีแต่จริงๆแล้วยังอยู่ในช่วงแค่เริ่มต้น ยากที่จะบอกได้ว่าฝั่งไหนจะได้เปรียบเสียเปรียบ และตลอดปี 2019 นี้เราคงจะได้เห็นการตอบโต้กันไปมาของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งบางอย่างอาจจะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่กระทบมาถึงคนเล่นเกมอย่างเราแบบไม่คาดคิดด้วยก็เป็นได้ครับ
ข้อมูลอ้างอิง
Techrepublic
PC Gamer
Deep Silver Facebook Official Page
Reddit Metro Exodus
Metro Exodus Steam forum
Steam (Wiki)
Battle.net (Wiki)
EA Origin (Wiki)
Epic Game Store (Wiki)
รูปประกอบ
Reddit.com, PC World, Ubisoft, Origin, Epic Store, Metro Exodus Steam Store page