รีวิว Julie and The Phantoms ซีรี่ส์ใหม่จากราชามิวสิคัลวัยทวีน
Julie and The Phantoms
สรุป
Julie and The Phantoms ผลงานซีรี่ส์จาก เคนนี่ ออร์เตก้า ผู้กำกับหนังเพลงวัยรุ่นเรื่องดังอย่าง High School Musical ที่นำเสนอเรื่องราวแฟนตาซีผ่านบทเพลงร็อคได้อย่างลงตัว
Overall
7.5/10User Review
( votes)Pros
- หนังเพลงวัยรุ่นจากผู้สร้าง High School Musical ที่การันตีความสนุกสไตล์หนังวัยรุ่นดิสนี่ย์
- บทเพลงป๊อปร็อคไพเราะกว่า 15 เพลง ที่ถ่ายทอดได้อย่างน่าประทับใจ โดยนักแสดงนำ
- เนื้อหาก้าวข้ามพ้นวัยที่ว่าด้วยการสู้เพื่อฝันอีกครั้ง
Cons
- หนังมีกลิ่นอายสไตล์ที่ไม่ได้ฉีกอะไรจากหนังวัยรุ่นดิสนี่ย์นัก
- มุขตลก และการดำเนินเรื่องตามสูตรสำเร็จ
หลังจากกำกับหนังทางโทรทัศน์ให้กับค่ายดิสนี่ย์ พิคเจอร์สมานานจนเรียกว่าเป็นขาประจำของหนังทางช่องดิสนี่ย์ชาแนล ผู้กำกับ เคนนี่ ออร์เตก้า ก็ได้สร้างผลงานกับทางเน็ตฟลิกซ์บ้างในการรีเมคซีรี่ส์โทรทัศน์จากประเทศบราซิลในชื่อเดียวกันนั่นคือ Julie and The Phantoms เมื่อปี 2011 (หรือในภาษาเดิม Julie e os Fantasmas) และดูเหมือนนี่จะเป็นงานโชว์ศักยภาพของเขาอีกครั้ง
ตัวอย่างซีรี่ส์ Julie and The Phantoms
ออร์เตก้าผู้กำกับวัย 70 ปีเติบโตมาในสายละครเพลง และการออกแบบท่าเต้นมากมายเขามีส่วนในงานออกแบบท่าเต้นของหนัง และมิวสิควิดีโอยุค 70-80s อย่างไรก็ตามเมื่อได้โอกาสกำกับหนังสองเรื่องในยุค 90s นั่นคือ Newsies(1992) และ Hocus Pocus(1993) กลับได้ผลตอบรับที่ได้มีทั้งคำวิจารณ์และรายได้(แม้ในเวลาต่อมา Hocus Pocus จะกลายเป็นหนังคัลท์คลาสสิคของยุคนั้น) ทำให้เขาหันเหไปในงานออกแบบท่าเต้นอีกครั้ง แต่ก็นับเป็นการฝึกปรือที่สำคัญยิ่งเพราะเป็นการดูแลงานให้กับคอนเสิร์ตของราชาเพลงป๊อปอย่าง ไมเคิล แจ๊คสัน นานกว่าสิบปี รวมถึงหันไปกำกับซีรี่ส์โทรทัศน์หลายเรื่อง
Julie e os Fantasmas ต้นฉบับจากบราซิล
เขากลับทำงานกำกับและออกแบบท่าเต้นร่วมกันอีกครั้งจากการกำกับหนังทางโทรทัศน์ High School Musical ในปี 2006 และมันกลายเป็นงานที่สร้างชื่อให้กับดิสนี่ย์ระดับปรากฎการณ์ จนมีการสร้างภาคต่ออีกสองภาค โดยภาคสุดท้าย High School Musical 3: Senior Year ได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ปี 2008 ได้รับทั้งเงินและกล่อง ในฐานะที่มันเป็นหนังวัยรุ่นที่ปลุกตลาดหนังเพลงของดิสนี่ย์ที่ไปได้ดีเฉพาะอนิเมชั่นให้กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง และทำให้เขาได้กำกับหนังสไตล์มิวสิคัลอีกหลายเรื่องรวมถึง Descendants(2015) หนังเพลงสไตล์แฟนตาซีที่จับลูกเหล่าร้ายจากการ์ตูนดิสนี่ย์มาเป็นตัวเอก และกลายเป็นกระแสโด่งดังจนสร้างออกมาถึงสามภาค จึงไม่แปลกเลยที่ผู้กำกับวัยเก๋าคนนี้จะได้รับการยกให้เป็นราชาแห่งหนังทวีน (หนังสำหรับวัยช่วงระหว่างเด็กจนถึงวัยรุ่น)
ปีที่ผ่านมาออร์เตก้าเซ็นสัญญาผลิตงานให้กับ Netflix สตรีมมิ่งรายใหญ่หลายปี และซีรี่ส์ Julie and The Phantoms เป็นผลงานเรื่องแรกของเขาผ่านการสร้างของ แดน ครอส และ เดวิด โฮก สองโปรดิวเซอร์ผู้คร่ำหวอดในการผลิตซีรี่ส์สำหรับวัยรุ่น ที่งานนี้ยังแสดงให้เห็นเอกลักษณ์เด่นๆ ในแนวมิวสิคัลของเขา รวมไปถึงการคัดนักแสดงหน้าใหม่ซึ่งแจ้งเกิดในเรื่องนี้อย่างเต็มตัว โดยไม่ต้องพึ่งดาราจากช่องดิสนี่ย์ ชาแนล
จูลี่ (เมดิสัน เรเยส) นักเรียนเอกดนตรี กำลังจมอยู่กับความทุกข์หลังสูญเสียแม่ไป จนไม่กล้าจะกลับมาเล่นดนตรีอีกครั้ง แต่แล้ววันหนึ่งขณะจัดของในห้องแม่เพื่อเตรียมจะประกาศขายบ้าน ซีดีเดโมของวงร็อคไร้ชื่อวงหนึ่งที่ลองเปิดฟังก็ทำให้ผีสามตนที่ตายไปแล้วตั้งแต่ปี 1995 หรือเมื่อยี่สิบปีก่อนถูกปลุกวิญญาณขึ้นมาอีกครั้ง พวกเขาคือ ลุค , อเล็กซ์ และเรจจี้ อดีตสมาชิกวง Sunset Curve (ชาร์ลี กิลเลสพี, ) ที่เสียชีวิตกะทันหันก่อนจะได้ขึ้นคอนเสิร์ตครั้งสำคัญ
แรกเริ่มเธอกลัว และคิดว่าเรื่องราวในชีวิตวุ่นวายอยู่แล้ว ทำให้ปฏิเสธที่จะช่วยเหลือทั้งสามที่อยากจะกลับมาทำงานเพลงอีกครั้ง เมื่อพบว่าเมื่อไรที่เล่นดนตรีกับจูลี่ คนจะสามารถได้ยินเสียงดนตรีที่พวกเขาเล่นได้ แต่แล้วในวันหนึ่งการแสดงเพลงหลังงานกีฬาของเธอ สมาชิกทั้งสามคนที่ร่วมเล่นบนเวที และทุกคนเห็นพวกเขา ได้รับการตอบรับอย่างดียิ่ง ทุกคนต่างเชื่อข้อแก้ตัวอย่างรีบร้อนว่านี่เป็นภาพจากโฮโลแกรม กลายเป็นต้นกำเนิดของวง Julie and The Phantoms ที่นักร้องนำเป็นคน และแบ็คอัพของเธอคือผี
ซีรี่ส์ความยาวทั้งหมด 9 ตอนนี้มีความยาวไม่มาก สามารถดูจบได้อย่างเพลิดเพลินด้วยเพลงใหม่ที่คัดสรรมาอย่างดีในแต่ละตอนรวม 15 เพลง มีทั้งเพลงแบบป๊อปร็อคยุค 90s แบบที่วง Sunset Curve เล่น รวมไปถึงเพลงสไตล์มิวสิคัล และเพลงเต้นรำที่ออร์เตก้าถนัด และแม้จะเป็นเพลงที่ดูเหมือนจะไม่เอื้อกับการออกแบบท่าเต้นนัก แต่ก็เห็นได้ชัดว่าทุกอย่างในฉากเพลงและบนเวทีถูกออกแบบมาอย่างดีให้แต่ละตอนไม่ซ้ำซากจำเจ
แม้จะเป็นงานที่ผลิตให้เน็ตฟลิกซ์ ในฐานะโปรดิวเซอร์ ที่กำกับซีรี่ส์นี้ถึง 5 ตอน ออร์เตก้ายังไม่ทิ้งกลิ่นอายหนังสำหรับช่องดิสนี่ย์ ชาแนล มีฉากเพลงแฟนตาซีจัดเต็มแทรกเข้ามา เพลงร็อคในเรื่องเองหากเทียบตามยุคสมัยจริงอย่างปี 1995 ก็ออกจะมีสำเนียงต่างออกไปนิดๆ เพราะยุคดังกล่าวเป็นยุคของวงอัลเทอร์เนทีฟร็อค คู่พระนางไม่มีฉากรักหวือหวาเกินเลย แต่ละตอนเน้นความตลกเปิ่นๆ ของตัวละคร ที่หลายคนบุคลิกยังดูล้นๆ เหมือนหลุดมาจากหนังการ์ตูน แถมเขายังดึงเอา บูบู สจ๊วร์ต และ จาดาห์ มารี ที่เคยแสดงหนังชุด Descendants มารับบทสมทบอีกด้วย
หากอีกด้านงานชิ้นนี้ก็เป็นแนวก้าวข้ามพ้นวัยที่ลงตัว ทั้งประเด็นการรับมือกับความสูญเสียคนที่รัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจูลี่ ที่เสียแม่หรือ ลุค มือกีต้าร์ และนักแต่งเพลงหลักของวงที่มีปมไม่ต่างกันนัก รวมทั้งสมาชิกของวงเองที่กลัวการสูญสลายไปตลอดกาล อีกทางหนึ่งพวกเขาก็สู้เพื่อฝันในการเป็นศิลปินดังท่ามกลางอุปสรรคที่ผ่านเข้ามาในชีวิตท่ามกลางบรรยากาศแบบหนังตลกวัยรุ่น แต่ก็ชวนลุ้น และเอาใจช่วยพวกเขาที่หากเดินพลาดสักครั้ง ก็อาจปิดโอกาสการเป็นศิลปินดังที่วาดหวังไว้
จึงไม่แปลกบทเพลงที่คัดมาจึงล้วนว่าด้วยการให้กำลังใจ ยืนหยัดที่จะสู้ต่อ ซึ่งปลุกปลอบทั้งตัวผู้ร้องและเล่นดนตรี รวมถึงผู้ชมอีกด้วย แน่นอว่าใจความสำคัญคงเรื่องยังคงเป็นดังที่จูลี่พูดถึงลุคว่า “เขาได้ใช้ชีวิตโดยทำสิ่งที่เขาเกิดมาเพื่อทำ ไม่ใช่ทุกคนที่จะหามันเจอ แต่ลุคหาเจอค่ะ” แต่เชื่อว่าใครได้ฟังเพลงอย่าง Stand Tall ก็คงรู้สึกฮึกเหิมตามได้ไม่ยากเลย
เมดิสัน เรเยส นักแสดงหน้าใหม่เชื้อสายละตินอเมริกา แม้จะไม่ได้มีหน้าตาสะสวยโดดเด่นทันที แต่ด้วยความสามารถทางการแสดงบนเวที การร้องอันทรงพลัง การเต้น และแสดงดนตรีของเธอทำได้อย่างน่าประทับใจ ไม่น่าแปลกที่แม้เธอจะเป็นนักแสดงหน้าใหม่ แต่ก็ผ่านการคัดเลือกจากนักแสดงที่ทดสอบบทกว่า 1,000 คน และยังถ่ายทอดอารมณ์ความรักที่มีต่อแม่ และเด็กหนุ่มวัยไล่เลี่ยกันได้อย่างเป็นธรรมชาติ
ชาร์ลี กิลเลสพี (ซีรี่ส์ Charmed )นักแสดงหลักอีกคนที่รับบท ลุค ภายใต้บุคลิกหนุ่มร็อคมาดเท่ แต่ในฉากที่เขาถ่ายทอดความรู้สึกเสียใจผ่านบทเพลง Unsaid Emily นับเป็นฉากที่น่าจดจำที่สุดฉากหนึ่งของซีรี่ส์นี้ การแสดงของเขากับเรเยสนับเป็นเคมีที่ลงตัวอย่างไม่น่าเชื่อ
น่าเสียดายว่าด้่วยความยาวของซีรี่ส์ที่จบเพียง 9 ตอนทำให้มันจบโดยมีเรื่องทิ้งค้างคาเป็นปริศนาเต็มไปหมด และต้องมาลุ้นผลตอบรับกันว่าซีรี่ส์มิวสิคัลเรื่องนี้จะได้สร้างต่ออีกหรือไม่ !