รีวิว Kantaro: The Sweet Tooth Salaryman – คนบ้าขนมจอมรีแอ๊คชั่น
Kantaro: The Sweet Tooth Salaryman
สรุป
ซีรี่ส์ชิมขนมหวานที่ประสบความสำเร็จในการสไตล์หวือหวา ใครที่ชอบรีแอ๊คชั่นการกินอาหารแบบการ์ตูนญี่ปุ่นจะถูกใจได้ไม่ยาก แต่ความเป็นซีรี่ส์เบาสมองทำให้ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น
Overall
6.5/10User Review
( vote)Pros
- การขายสไตล์ภาพที่ได้รับอิทธิพลจากมังงะญี่ปุ่นเพื่อสร้างความฟินในการชม
- ซีรี่ส์ถ่ายภาพขนมหวานได้น่ากิน ชวนน้ำลายสอ
- แต่ละฉากรีแอ๊คชั่นเรียกเสียงหัวเราะได้พร้อมๆ กัน
Cons
- ใครที่รสนิยมไม่ชอบการกินขนมหวานอาจไม่พบความแตกต่างในขนมแต่ละประเภทเท่าที่ตัวเอกบรรยาย
- เนื้อเรื่องไม่คืบหน้าเพราะเน้นขายสไตล์
- หน้าฟินของตัวเอกอาจทำให้หลายคนเหวอมากกว่าฮา
หากใครเคยชมอนิเมะ หรืออ่านมังงะทำอาหารยอดนิยมอย่าง Shokugeki no Soma ซึ่งเน้นฉากที่ถูกเรียกว่า “รีแอ๊คชั่น” หรือสีหน้า อาการ จินตนาการเมื่อลิ้มรสอาหาร (บางตอนก็เน้นฉากแฟนเซอร์วิส) ก็น่าจะชอบซีรี่ส์เบาสมองเรื่อง Kantaro: The Sweet Tooth Salaryman (คันทาโร่ เซลล์แมนนักชิมของหวาน)
เชื่อว่าใครหลายคนที่ตามอ่านมังงะของญี่ปุ่น คงสังเกตได้ไม่ยากเย็นว่าเรื่องแนวอาหารนั้นนับเป็นงานเขียนตระกูลหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะมีหลากหลายประเภท ตั้งแต่แนวตลกไม่เอาสาระ เรื่องราวชีวิตเข้มข้นของคนทำอาหาร หรือมังงะที่เน้นข้อมูลเชิงโภชนาการ หรือร้านอาหารที่มีอยู่จริงในเมืองต่างๆ
ตัวอย่าง Kantaro: The Sweet Tooth Salaryman คันทาโร่ เซลล์แมนนักชิมของหวาน
ซีรี่ส์ชิมขนมหวานเรื่องนี้มีความยาวตอนละ 24 นาที เป็นงานสร้างร่วมระหว่าง TV Tokyo และ Netflix ที่จบไปแล้ว 1 ซีซั่น(มีทั้งหมด 12 ตอน) ไม่แปลกใจแต่อย่างที่มันดัดแปลงจากมังงะ Saboriman Ametani Kantarou เขียนโดย เทนเซ ฮากิวาระ และ อิโนอุเอะ เอบีดี ที่ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ.2014
ภายนอก อาเมทานิ คันทาโร่ เหมือนเป็นคนเจ้าระเบียบ มากหลักการ ขยันทำงาน เขาลาออกจากวิศวกรมาเป็นเซลส์ขายหนังสือให้กับสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง และทำการปิดการขายได้รวดเร็วตามเป้าจนหัวหน้า และพนักงานหลายคนทึ่ง โดยหารู้ไม่ว่าในระหว่างทำงานนั้นชายบุคลิกคงแก่เรียน สีหน้าจริงจังอย่างเขาจะคำนวณเวลาเพื่อเผื่อไว้สำหรับไปร้านขนมหวานมีชื่อต่างๆ ในญี่ปุ่น
หากซีรี่ส์ในกลุ่มอาหารมีแนวทางของตัวเอง เช่น Solitary Gourmet ขายความเรียบง่าย สัมผัสได้ถึงบรรยากาศจริง, Midnight Diner ขายเรื่องราวของผู้คน, งานชิ้นนี้ก็เน้นการขยายสไตล์เพื่อสร้างฉากการกินขนมหวานทั้งหลายให้กลายเป็นอาหารตาแก่ผู้ชม ไม่ว่าจะเป็นฉากการราดน้ำเชื่อมลงบนขนมอันมิตสึ (ขนมทำจากวุ้น ถั่วแดง โมจิ ผลไม้สด และไอศกรีม) ภาพจะตัดให้เราเห็นน้ำเชื่อมเป็นประกายราดรดตัวของคันทาโร่ในชุดขาวราวกับประหนึ่งว่านี่คือพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์, ขณะดื่มด่ำกับรสชาติของเมล่อนในคากิโงริ(ขนมหวานน้ำแข็งใส) หัวของเขาก็กลายเป็นลูกเมล่อนลูกโต เพลิดเพลินไปกับจินตนาการได้เดินเที่ยวเล่นในสวนร่มรื่นกับสาวเมล่อนอีกคนหนึ่ง , หรือเมื่อสัมผัสได้ถึงความเย็นฉ่ำของขนมหวานนั้น ภาพของคันทาโร่คือร่างของตนถูกน้ำเย็นจัดซัดเต็มที่
แต่ละตอนของซีรี่ส์พิถีพิถันกับการถ่ายภาพเพื่อให้ขนมหวานนั้นดูสวยงามชุ่มฉ่ำ นุ่มนวลสดใหม่น่ารับประทาน รวมถึงสรรหาการสร้างสไตล์ใหม่ๆเพื่อให้เห็นถึงรสชาติที่แตกต่างของขนมหวานรสเลิศนั้น โดยอิงอิทธิพลจากทั้งงานมิวสิควิดีโอ, อนิเมะ, เซ็นไต หรือขบวนการห้าสี, ละครน้ำเน่า, ละครเพลง ไปจนถึงหนังไซไฟที่การกินของคันทาโร่ จินตนาการเลยเถิดราวกับบินออกไปนอกเอกภพอันเวิ้งว้าง โดยมีเอกลักษณ์ที่เมื่อกินขนมใดๆ ก็ตามไม่ว่าจะเป็น พาร์เฟ่ต์, มองบลังค์, พุดดิ้ง จะตามด้วยคำพูดติดปากอันเป็นเอกลักษณ์ว่า “มีเพียงสวรรค์แห่งขนมเท่านั้นที่รู้” และเมื่อได้สัมผัสลองลิ้มจนถึงแก่กำซาบรส ความฟินจนตาเหลือกลานจะปรากฎบนใบหน้าของเขา
เรียกได้ว่าถ้าใครต้องการฟินไปพร้อมกับรีแอ๊คชั่นดังกล่าว ในแง่ฉากอาหารตา Kantaro: The Sweet Tooth Salaryman สอบผ่านทุกประการในการเรียกร้องความสนใจให้กับขนมประเภทต่างๆ ในแต่ละตอน แถมร้านขนมหวานที่ไปชิมนั้นก็มีอยู่จริงๆ ตามพื้นที่ที่ตัวเอกไปตระเวณทำงาน
แต่ก็เชื่อแน่ว่าการได้ดูหน้าเนิร์ดๆ ของตัวเอกซึ่งเน้นฉากการกินขนมหวานไปเกินครึ่งนั้นอาจไม่ใช่เรื่องรื่นรมย์สำหรับบางคนแน่ๆ ผู้สร้างก็เลยต้องสร้างตัวเอกเพิ่มให้เป็นอาหารตาอย่าง อิชิคาวะ เรน นักแสดงสาวสวยที่มีผลงานถ่ายแบบและชุดว่ายน้ำให้มารับบท โดบาชิ ฝ่ายการตลาดออนไลน์ที่ทำงานในสำนักพิมพ์เดียวกัน และเป็นเพียงพนักงานคนเดียวที่สันนิษฐานว่าคันทาโร่แอบไปกินขนมหวานระหว่างทำงาน และเขียนบล็อกในชื่อ “อัศวินขนมหวาน” อยู่ตลอด บ่อยครั้งเธอก็ไปปรากฎเป็นฉากแฟนตาซีในจินตนาการระหว่างการกินขนมของเขา
แต่ปัญหาจริงๆ ของงานชิ้นนี้ก็มาจากความพยายามให้มันมีเนื้อเรื่องเดินหน้าบ้างนี่เอง เมื่อเวลาผ่านไปความพยายามเล่นกับสไตล์อย่างหนักหน่วงของมันก็จะทำให้เราเกิดเบื่อได้มากกว่าความเรียบง่าย และยังพบว่าเนื้อเรื่อง ของมันเดินหน้าช้าเหลือเกิน ผิดกับซีรี่ส์ที่เป็นลักษณะจบในตอนแบบ Solitary Gourmet ที่คนดูไม่ได้คาดหวังอะไรตรงนั้น และสามารถดูได้เรื่อยๆ มากกว่า
สำหรับในซีซั่นแรกคงไม่เท่าไหร่ แต่ลองจินตนาการว่าถ้าซีรี่ส์ชุดนี้ได้ทำต่อเนื่องอีกหลายซีซั่น แต่เนื้อเรื่องยังไม่มีอะไรคืบหน้า แผลดังกล่าวก็จะยิ่งเห็นชัด รวมไปถึงตัวขนมที่กินเองก็จะเริ่มมีลักษณะซ้ำๆ ที่บรรยายหรือสร้างสไตล์ได้ยากขึ้นแน่ๆ เพราะแค่ซีซั่นแรก คนทั่วไปที่ไม่ใช่คอขนมหวานก็จะรู้สึกได้ว่ามีขนมที่หน้าตาคล้ายคลึงกันไม่น้อยแล้ว
แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาเชื่อว่านักชิมหลายคนยอมมองข้าม และฟินไปกับรีแอ๊คชั่นที่ซีรี่ส์นี้บรรจงสร้างสรรค์ และเรียกเสียงหัวเราะได้อย่างเพลิดเพลินเป็นแน่
งานนี้เรียกได้ว่ารีแอ็คชั่นดี มีชัยเหนือทุกสิ่ง !