playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

รีวิว The Perfection สยองขวัญหักมุมที่ไม่เพอร์เฟ็กต์ !

The Perfection

สรุป

รีวิว The Perfection หนังสยองขวัญหักมุมจาก Netflix เมื่อสองนักเชลโลสาวที่พาเราไปรู้จักกับโลกอันวิปริตคาดไม่ถึง น่าเสียดายที่ตัวหนังไม่ถึงกับสดใหม่นัก

Overall
6/10
6/10
Sending
User Review
5 (1 vote)
Comments Rating 0 (0 reviews)

Pros

  • เดินเรื่องด้วยลีลาหวือหวา และหักมุมหลายตลบ เหมาะกับคอหนังหักมุมยิ่ง
  • ตีแผ่ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ และการศึกษาได้อย่างสยดสยอง
  • การแสดงที่โดดเด่นของสองนักแสดงสาว

Cons

  • เนื้อเรื่องมีความคล้ายกับหนังเกาหลีใต้เรื่อง The Handmaiden มากๆ
  • โครงเรื่องไม่แข็งแรง ทำให้ชวนสงสัยแรงจูงใจของตัวเอก
  • การเดินเรื่องที่พยายามหักมุมมากๆ แต่กลับไม่น่าเชื่อถือหลายประเด็น

ในต้นปี ค.ศ.2019 นอกจากหนังที่สร้างโดย Netflix บริการสตรีมมิ่งชื่อดังจะสร้างชื่อด้วยการมีหนังเข้าชิงออสการ์อย่าง Roma เป็นครั้งแรก หนังหลายต่อหลายเรื่องที่สร้างเพื่อฉายช่องทางนี้โดยตรงก็สร้างกระแสฮือฮาบนโลกออนไลน์ได้เช่นกัน หนึ่งในนั้นคือ The Perfection ซึ่งลงฉายเมื่อ พฤษภาคม 2019

ตัวอย่างภาพยนตร์ The Perfection มือหนึ่ง

 

หนังเป็นผลงานการกำกับของ ริชาร์ด เชพเพิร์ด(The Matador และซีรี่ส์ Girls) มันสร้างชื่อโดยเริ่มออกฉายในเทศกาลหนังสยองขวัญ Fantastic Fest เมื่อกันยายน ค.ศ.2018 และเมื่อออกเผยแพร่ มันก็สร้างกระแสฮือฮาทางทวิตเตอร์ได้อย่างดี ช่วงที่ออกฉายเต็มไปด้วยแฮชแทคชื่อหนังที่ทวีตทั้งในกระแสบวกและลบ ตามรอยความสำเร็จ Birdbox หนังเขย่าขวัญของสตรีมมิ่งรายใหญ่แห่งนี้ที่สร้างสถิติยอดผู้ชม 45 ล้านครั้งภายในหนึ่งสัปดาห์

ความฮือฮาของหนังมาจากความสวิงสวาย และหักมุมอย่างต่อเนื่องของมัน ซึ่งทำให้มันกลายเป็นสถานะแบบหนังคัลท์ขึ้นมา เพราะในขณะที่มีคนชิงชังกับอาการท่ามากของมัน ก็มีคนชื่นชอบและสนุกไปกับลีลาของหนังสยองขวัญในลักษณะแบบนี้ ซึ่งไม่ว่าคนจะชอบหรือไม่ชอบ ทางเนตฟลิกซ์เองก็อาศัยใช้การตลาดพล็อตทวิสต์ดังกล่าว ทำให้กระแสแบบปากต่อปากของหนังไปได้ดียิ่งในการสร้างความสนใจให้คนอยากรู้ว่ามันจะมีบทสรุปแบบใดหลังจากเรื่องราวพลิกผันแบบกลับตาลปัตรไปมา

เสียงชื่นชมนั้นพิสูจน์ได้จากรางวัล ลำดับภาพยอดเยี่ยมจากเทศกาล Fright Meter Awards ในปี 2019 และ รางวัลหนังที่ไม่ได้ฉายโรงยอดเยี่ยม จาก Online Film Critics Society ในปี 2020 รวมไปถึงการกล่าวขวัญถึงในฐานะหนังสยองขวัญที่ได้รับการกล่าวชื่นชมจากเว็บไซต์ Watchmojo

อย่างไรก็ตามคำเตือนสำหรับคอหนังสยองขวัญที่สนใจก็คือ งานชิ้นนี้ได้แรงบันดาลใจอย่างเต็มที่จากหนังเกาหลีใต้เรื่องดัง The Handmaiden หนังระทึกขวัญปี 2016 ของ พัก ชานวุค(ผู้กำกับ JSA และ Thrist) ซึ่งเข้าชิงในสายประกวดเทศกาลหนังเมืองคานส์ปีเดียวกันนั้น และสามารถคว้ารางวัล Vulcain Prize ซึ่งแม้ไม่ใช่รางวัลหลัก แต่ก็มอบให้กับหนังที่มีความโดดเด่นในงานด้านเทคนิค ซึ่งในที่นี่ยกย่องในการออกแบบงานสร้างที่โดดเด่น

ดังที่เชพเพิร์ดเคยให้สัมภาษณ์กับ Entertainment Weekly ว่า “ผมรู้สึกถึงวิธีการในหนังเกาหลีที่หักมุมได้อย่างสมบูรณ์ซึ่งไม่พบในหนังอเมริกา…หนังอเมริกาก็มีการหักมุมหรืออะไรแบบนั้นแต่วิธีที่คนเกาหลีทำมันต่างออกไป มันไม่ใช่หักมุมแต่มันกลายเป็นหนังอีกเรื่องไปเลย” เขายังกล่าวชมด้วยว่ามันเป็นหนังที่ตรึงคนดูอยู่หมัดโดยไม่ต้องมีฉากแอ๊คชั่นใดๆ

หนังเกาหลีเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างที่เขากล่าวเอาไว้คือผสมผสานหลากหลายประเด็น เป็นทั้งหนังสายลับจารกรรมย้อนยุค และหนังเขย่าขวัญที่มีฉากโหดๆ รวมไปถึงสอดประเด็นสิทธิสตรี กับภาพสะท้อนของประเทศเกาหลีภายใต้ยุคญี่ปุ่นปกครองได้อีกด้วย โดยมีการแบ่งช่วงตอนที่ราวกับเป็นหนังคนละเรื่อง

แต่ก็ต้องยอมรับว่า The Perfection เป็นงานที่ดูสนุกน่าพอใจเรื่องหนึ่ง ตัวเนื้อเรื่องนั้นเป็นคนละเรื่องราวกับหนังเกาหลีเรื่องนั้น มันเริ่มต้นในยุคปัจจุบันเล่าชีวิตของ ชาร์ล็อตต์ (อลิสัน วิลเลี่ยมส์ จาก Get Out) นักเชลโลสาวอัจฉริยะที่ต้องออกจากโรงเรียนและวงการดนตรีตั้งแต่อายุยังน้อยเพื่อดูแลแม่ที่ป่วย เธอได้ติดต่อขอกลับมาร่วมแสดงอีกครั้งหลังจากแม่เสียชีวิต ทางโรงเรียนได้พาเธอไปยังประเทศจีนและทำความรู้จักกับ ลิซซี่(โลแกน บราวนิ่ง) นักเชลโลดาวรุ่งอีกคนที่ปัจจุบันมีชื่อเสียงอย่างยิ่ง

ความกล้าพูดคุยเรื่องเพศอย่างตรงไปตรงมาตั้งแต่ต้น ทำให้ทั้งคู่พัฒนาความสัมพันธ์แบบหญิงรักหญิงอย่างรวดเร็ว แต่แล้วในการเดินทางท่องเที่ยวร่วมกันที่ชนบทของจีน ลิซซี่ก็ไม่สบาย เธอพบกับอาการประหลาดที่นำไปสู่จุดพลิกผันคาดไม่ถึง

ถึงจุดนี้หนังก็เข้าสู่การหักมุมอีกหลายตลบ และเลือกใช้เทคนิคสารพัดตั้งแต่การเร่งสปีดภาพ เล่าเรื่องถอยหลัง การตัดแบบจัมพ์คัทสร้างอารมณ์ที่ขัดแย้งกันของตัวละคร และช่วยกระตุ้นความหลอน ซึ่งทำให้เรื่องเดินหน้าได้อย่างเร้าใจ โดยมีประเด็นการล่วงละเมิดทางเพศ และเสียดสีปัญหาการศึกษาที่เน้นความสมบูรณ์แบบ ซึ่งส่งผลให้ตัวละครตายทั้งเป็น

แต่ถ้าถามว่าหากผู้กำกับมีเจตนาทำเพื่อให้งานชิ้นนี้ใกล้เคียงกับ The Handmaiden ก็ต้องบอกว่าเป็นคนละเรื่องกันเลยทีเดียว มิหนำซ้ำหากใครเคยชมหนังเรื่องดังกล่าวมาก่อน มีโอกาสคาดเดาการหักมุมต่างๆ ของเรื่องได้ไม่ยากเย็นนัก เพราะมีการหักมุมในลักษณะคล้ายๆ กัน

ริชาร์ด เชพเพิร์ด เองพยายามทำใหงานชิ้นนี้ต่างออกไปด้วยลีลาสวิงสวายดังกล่าวตั้งแต่ต้น และมักจะตัดภาพ หรือถ่ายไปยังรายละเอียดที่ชวนให้ขบคิด แต่บ่อยครั้งวิธีดังกล่าวกลับทำไปทำลายบรรยากาศที่คาดเดาไม่ได้ของเรื่องไปแทน

อีกจุดอ่อนที่เห็นได้ชัดคงไม่พ้นโครงเรื่องที่ไม่แข็งแรง พอหนังเริ่มต้นอย่างเป็นปริศนา และเริ่มโทนเรื่องให้เราเขวไปในทางอื่น การสร้างจุดพลิกผันจนถึงบทสรุปสุดท้ายนั้น การตัดสินใจของตัวละครบางอย่างขาดทั้งรุนแรงและขาดความน่าเชื่อถือไม่น้อย

อย่างไรก็ตามหากมองข้ามความเหมือนหนังเกาหลีเรื่องนั้น และลีลาที่ยังไม่ลงตัว งานเรื่องนี้ก็เป็นหนังเขย่าขวัญที่ลีลาแปลก ไม่ซ้ำใคร หลายฉากเองทำได้ดีโดยเฉพาะฉากเล่นเชลโลของสองนักแสดงสาวที่แม้จะมีเพียงสองฉาก แต่ได้กลายเป็นไฮไลต์ของเรื่องไปโดยปริยาย ยิ่งถ้าใครชื่นชอบ อลิสัน วิลเลี่ยมส์ นางเอกสาวสวยที่โด่งดังจาก Get Out หนังเรื่องนี้นับว่าเป็นงานฉายเดี่ยวของเธอที่ทำได้ไม่เลวเลยทีเดียว

Leave a comment
The Devil’s Hour ช่วงเวลาปีศาจ ตี 3.33 นาที ที่เต็มไปด้วยเรื่องเซอร์ไพรส์เกินคาด!