รีวิวสารคดี Tiger King : เปิดโปงราชาเสือสุดเพี้ยนแห่งอเมริกา
Tiger King
สรุป
สารคดียอดคนดูเป็นประวัติการณ์ว่าด้วยการสำรวจชีวิต ราชาเสือ โจ เอ็กโซติค เจ้าของกิจการสวนสัตว์ผู้ทำตัวสุดเพี้ยน จากความพยายามยิ่งใหญ่ก่อนจะล่มสลายกลายเป็นอาชญากร
Overall
8.5/10User Review
( vote)Pros
- สารคดีที่สำรวจธุรกิจสวนสัตว์ที่หาผู้ทำเจาะลึกได้ยาก
- ชีวิต โจ เอ็กโซติค ที่ทั้งเพี้ยน พลิกผัน ยิ่งกว่าตัวเอกในหนังบางเรื่องเสียอีก
- ความเข้มข้นเร้าใจที่ชวนติดตามทุกตอนอย่างน่าทึ่ง
Cons
- มีคำหยาบ และเนื้อหาที่รุนแรง
- บางฉาก และเรื่องเล่าไม่เหมาะกับคนรักสัตว์ที่จิตใจอ่อนไหว
หมายเหตุ : สารคดีเต็มไปด้วยภาพรุนแรงทั้งการทารุณสัตว์ กริยาและภาษาที่ไม่เหมาะสมสำหรับผุ้ชมอายุต่ำกว่า 18 ปี ขึ้นไป
แม้ซีรี่ส์ Tiger King (ราชาเสือ) หรือในชื่อเต็มๆ ว่า Tiger King: Murder, Mayhem and Madness ทางเน็ตฟลิกซ์จะเป็นสารคดีที่มีความยาวทั้งสิ้น 7 ตอน พร้อมตอนพิเศษอีก 1 ตอน (ตอนละ 40 นาที – โดยมีตอนพิเศษสัมภาษณ์คนที่ปรากฎในสารคดีเรื่องนี้ภายหลังงานชิ้นนี้โด่งดัง) เต็มไปด้วยการสัมภาษณ์คนจำนวนมากจนจำแทบไม่หวาดไม่ไหว แต่อาจกล่าวได้ว่าในด้านความสนุกตื่นเต้น นี่เป็นสารคดีที่สนุก น่าทึ่ง และมีสีสันของตัวละครยิ่งกว่าเรื่องแต่งในซีรี่ส์อาชญากรรมหลายเรื่องเสียอีก
ตัวอย่าง สารคดี Tiger King ราชาเสือ
พิสูจน์ได้จากผลตอบรับระดับถล่มทลายในช่วงที่ผู้ชมสหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่อยู่บ้านจากวิกฤตไวรัส COVID-19 สารคดีเรื่องนี้มียอดผู้ชมในเวลาเพียง 10 วันสูงราวๆ 34 ล้านคน (ตามผลสำรวจของบริษัท Nielsen ตัวเลขดังกล่าวยังไม่รวมการชมผ่านโทรศัพท์มือถือ, แทบเล็ต, และเครื่องคอมพิวเตอร์อีกด้วย ! นับเป็นสถิติที่แม้สาเหตุเพราะการต้องอยู่บ้านมากขึ้นก็ยังนับว่าน่าทึ่งอยู่ดี) ซึ่งสถิตินี้เป็นรองเพียงแค่ซีรี่ส์ดังอย่าง Stranger Things ซีซั่น 3 เท่านั้น และตัวละครหลายตัวที่มีสีสันนี่เองได้ถูกเอาไปทำเป็นมีมในอินเทอร์เน็ตอย่างรวดเร็ว
สารคดีชุดนี้เป็นผลงานกำกับของ อีริค กู้ดด์ และ รีเบคคา ไชคลิน ว่าด้วยการติดตามเจ้าของสวนสัตว์ G.W.Zoo(Greater Wynnewood Exotic Animal Park) ในเมืองไวน์วู้ด รัฐโอกลาโคมา โจ อัลเลน มัลโดนาโด พาสเสจ (เดิมชื่อ โจ ชไลบ์โวเกิล ซึ่งเป็นชื่อที่เรียกส่วนใหญ่ขณะถ่ายทำสารคดีนี้) หรือที่เขาเรียกตัวเองว่า โจ เอ็กโซติค ผู้มีสมญาว่าราชาเสือ ทั้งชีวิตส่วนตัวอันบ้าคลั่ง คนที่เขาเกลียดชัง ความรุ่งเรืองของธุรกิจ และล่มสลายของธุรกิจสวนสัตว์ ซึ่งถูกเกริ่นตั้งแต่ตอนต้นที่ถ่ายทำระหว่างปี ค.ศ.2013-2018 โดยกู้ดด์ว่าเขาเองก็ไม่นึกว่าเรื่องจะเลยเถิดได้ถึงเพียงนี้
ดูเผินๆ กิจการสวนสัตว์ที่เน้นเสือไม่น่าจะมีอะไรน่าสนใจ แต่เมื่อผู้สร้างติดตามเจาะลึกอย่างจริงจังกับสังคมที่ไม่ค่อยได้รับการเปิดเผย เพียงเริ่มต้นเราก็พบข้อมูลอันน่าทึ่งว่าเสือ สัตว์ป่าซึ่งเป็นหนึ่งในตัวละครหลักของซีรี่ส์มีปริมาณในสวนสัตว์มากกว่าในธรรมชาติถึงเท่าตัว ผู้คนในอเมริกาหลงใหลสัตว์อันตรายชนิดนี้อย่างมาก คนมีอันจะกินหลายคนลักลอบซื้อขายมันมาเลี้ยงในบ้าน และเหตุใดผู้คนจำนวนมากจึงคลั่งไคล้สัตว์อันตรายชนิดนี้กัน ?
สารคดีเริ่มต้นสามตอนแรกด้วยการเผยให้เห็นสวนสัตว์และผู้สร้างมันที่ต่างกันออกไป นั่นคือ
โจ เอ็กโซติค เกย์เจ้าของทรงรากไทร ในชุดคาวบอย และเจ้าของสวนสัตว์ G.W.Zoo ซึ่งชูตัวเองเป็นดาวเด่นในสวนสัตว์ของตนด้วยการพูดจาขวานผ่าซาก เปี่ยมอารมณ์ขันจนตรึงคนเข้ามาได้เสมอ ขณะเดียวกันก็บริหารธุรกิจแบบแหกคอก ไม่ว่าจะเป็นการขายผลิตภัณฑ์ในร้านขายของที่ระลึกปะพร้อมหน้าของตัวเอง จ้างคนนอกสังคมอย่างคนพิการ คนเคยติดคุกมาทำงาน ขณะเดียวกันก็มีชีวิตส่วนตัวหลุดโลกทั้งการแต่งงานร่วมสามคนพร้อมกัน การเป็นนักร้องคันทรี่ถ่ายทำมิวสิควิดีโอสุดเหวอขายในร้านที่สวนสัตว์ และเคยลงสมัครตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกามาแล้ว ดังคำที่สื่อมวลชนบอกว่าเขาเป็นคนแบบที่สื่อชอบ ต่อให้เราไม่ชอบหรือฟังสิ่งที่เขาพูดไม่รู้เรื่องก็ตาม
แครอล บาสกิ้น แห่ง Big Cat Rescue เมืองแทมป้า รัฐฟลอริด้า ไม้เบื่อไม้เมาของโจ เธอเป็นเจ้าของพื้นที่ซึ่งอ้างว่าเลี้ยงเสือไว้ในป่าที่มีกรง โดยปล่อยมันให้มันตายตามธรรมชาติ ต่อต้านการเพาะพันธุ์เพื่อขายลูกเสือ โดยมีอาสาสมัครจำนวนมากมาทำงานให้ฟรีๆ เพราะความโดดเด่นในการใช้โซเชียลมีเดีย
ภควัน “ด็อค” แมนเทิล เจ้าของสวนสัตว์ T.I.G.E.R.S เมือง เมอเทิลบีช รัฐเซาท์ แคโรไลนา ที่เน้นตลาดพรีเมี่ยมราคาแพง ด้วยเสือ และสัตว์หายากจำนวนมากผ่านการดูแลอย่างดี พร้อมพนักงานสาวสวยเซ็กซี่ ซึ่งเขามองว่าโจพยายามเดินตายรอยความสำเร็จของตน
เรื่องราวของทั้งสามคนนี้มีรายละเอียดที่สนุก ตื่นเต้น ไม่ว่าจะเป็นการแฉของโจว่าภายใต้เบื้องหน้าอันใจบุญ จริงๆ สถานที่อนุรักษ์เสือของแครอลก็สวนสัตว์ดีๆ นี่เอง เธอก็ไม่ต่างจากเขา หรือ ด็อค แมนเทิล ที่ในอดีตทำตัวประหนึ่งพรามหณ์ผู้น่าเลื่อมใส ปัจจุบันเขามีภรรยาสามคน และถูกแฉว่าพนักงานสาวทุกคนจะต้องยอมหลับนอนกับเขาเท่านั้นจึงจะได้เลื่อนตำแหน่ง
ตัวละครอื่นยังมากไปด้วยบุคลิกเปี่ยมสีสันไม่ว่าจะเป็น จอห์น ฟินเลย์ สามีของโจ ที่ทั้งตัวเต็มไปด้วยรอยสักราวกับแก็งค์ซิ่ง อายุไม่มากแต่ฟันหายเกือบหมดปาก, เร็นเก้ ผู้จัดการของ G.W.Zoo ที่ขาขาดเพราะอุบัติเหตุทั้งสองข้าง แต่กลับทำงานไม่เคยบ่น โดยขาเทียมของตกแต่งลวดลายอย่างสวยงาม, แซฟเฟอรี่ หนุ่มข้ามเพศ คนดูแลสวนสัตว์ที่ถูกเสือกัดจนต้องแขน แต่ไม่กี่วันเขาก็ออกจากโรงพยาบาลมาทำงานต่อเพื่อไม่ให้ที่นี่เสียชื่อ, ริค เคิร์คแฮม อดีตนักข่าวและโปรดิวเซอร์มีชื่อ ที่หันเหมาผลิตรายการทางอินเทอร์เน็ตให้โจ ด้วยมาดนิ่งๆ แต่ปากร้าย และวิจารณ์ทุกอย่างได้เฉียบคม
ขณะที่สี่ตอนต่อมาเรื่องราวทุกอย่างก็พลิกผัน ความมุ่งมั่นในการใช้สื่อจองล้างจองผลาญ ล้อเลียน ไปจนขู่ฆ่าแครอลของโจค่อยๆ ทำลายชีวิตเขา เขาถูกฟ้องจนสิ้นเนื้อประดาตัวต้องหาคนที่น่ากังขาอย่าง เจฟฟ์ โลว์ มาบริหารสวนสัตว์ ขณะที่ตนเองก็ค่อยๆ เลิกสนใจเสือทั้งหลาย สติแตก เผยความหยาบช้าของตัวเอกหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ ก่อนทุกอย่างจะเลยเถิดจนต้องโทษกลายเป็นอาชญากรรมในบั้นปลายชีวิต
กู้ดด์ และไชคิน มองเห็นประโยชน์การเป็นสารคดีแบบซีรี่ส์เล่าตอนต้นโดยเก็บความลับ ความจริงอีกด้านที่เสมือนเป็นไม้เด็ด ซึ่งเปลี่ยนจากภาพอันสวยงามตามคำบอกเล่าของโจ มาสู่อีกด้านหนึ่งในตอนท้ายๆ จนผลักสู่บทลงเอยที่น่าสลด และชวนขนลุก จากความภักดีของพนักงานที่เลือกจะไม่แยแสเขาอีกต่อไป
ขณะเดียวกันมันก็ตามเก็บทุกมุมมองอย่างละเอียดลออ ความเห็นแย้ง หรือสนับสนุน รวมถึงด้านที่ดำนมืดจากลูกจ้าง คนเคยร่วมงาน หรือนักธุรกิจ รวมถึงภาพข่าวในอดีต ภาพที่ออกมากลับไม่ได้บาลานซ์ หรือให้ความเป็นกลางแก่ใคร มันกลับเป็นเหมือนแรงเหวี่ยงให้สารคดีเต็มไปด้วยจังหวะขึ้นลงที่น่าตื่นเต้นมากกว่า
ภายหลังจากแครอล บาสกิ้น ฟ้องโจ เนื่องจากเขาทำการกวนตีนและประชดเธอด้วยตั้งองค์กรเลียนแบบว่า Big Cat Rescue Entertainment รวมถึงโลโก้ มันกลับกลายเป็นผลเสีย เพราะการล้อเลียน ด่าทอ ขู่ฆ่าเธอออกรายการของเขาอาจไม่มีความผิดเท่ากับการฟ้องเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์
แครอลฟ้องโจจนเขาแทบจะหมดตัว และอาจโดนยึดสวนสัตว์ ห้องผลิตรายการของเขายังถูกลอบวางเพลิงจนย่อยยับ หลังจากตอนนั้นโจก็สติแตก หวาดระแวงไล่คนออกด้วยอารมณ์โมโหร้าย สารคดีเผยให้เห็นว่าเขาด่าและทำร้ายเสือในสวนสัตว์ เขาไล่เคิร์คแฮมคนผลิตรายการออกไป พร้อมๆ กับการมาของ เจฟฟ์ โลว์ เศรษฐีที่จะมาเป็นเจ้าของคนใหม่ ดูแลกิจการแทนเขา
โจหันเหความสนใจไปสมัครประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เมื่อรู้ว่าแพ้เลือกตั้ง เขาก็ไปสมัครผู้ว่าการรัฐแทนที่ โจทุ่มเทให้กับการเลือกตั้งอย่างมาก เสียเงินและไม่สนใจสวนสัตว์เหมือนก่อน สารคดีเผยให้เห็นปัญหามากมายหนึ่งในนั้นคือสามีทั้งสองของเขาเป็นชายแท้ ที่โจปรนเปรอพวกเขาเพื่อให้มารักเขา แต่พวกเขาก็ทำตัวไม่ดีอย่างที่เขาวาดหวัง ฟินเลย์แอบมีชู้กับพนักงานในสวนสัตว์ ทราวิส สามีวัยรุ่นอีกคนถูกปรนเปรอด้วยยาเสพติดสารพัด เขามีอาการเก็บกด และบ้าปืนบ่อยครั้ง จนวันหนึ่งก็พลาดลั่นไกยิงตัวเองตาย
โจแพ้การเลือกตั้ง เขามีปัญหาระหองระแหงกับคนงานของเจฟฟ์ โลว์ รวมถึงตัวเจฟฟ์เองที่โกรธแค้นเขาเรื่องการแอบปลอมลายเซ็น เอาเงินไปหาเสียงจำนวนมาก เขาถูบีบให้ออก และขนเสือจำนวนหนึ่งหนีไป
ระหว่างนั้นเองสารคดีก็เผยว่า การ์เร็ตสัน นักธุรกิจเพื่อนของเจฟฟ์ ถูก FBI บีบให้มาเป็นสายเพื่อหาทางเอาผิดโจในข้อหาวางแผนฆาตกรรมแครอล บาสกิน ซึ่งแม้จะมีหลักฐานไม่ชัดเจนมาก แต่ด้วยความผิดอื่นๆ ในสวนสัตว์อีกหลายกระทง โจซึ่งภายหลังถูกพบจึงถูกจับกุม และศาลตัดสินจำคุกเขาเป็นเวลาถึง 22 ปี
ในตอนสุดท้ายที่เป็นการสัมภาษณ์พนักงานและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนต่างลงความเห็นว่าโทษสำหรับโจนั้นสมควรแล้ว รวมถึงฟินเลย์อดีตสามีที่เลือกจะโยนความผิดให้เขาทั้งหมด รวมถึงพนักงานสวนสัตว์คนอื่นๆ ที่เหนื่อยหน่ายพฤติกรรมเขามานาน
สารคดีเรื่องนี้นอกจากสีสันตัวละคร จึงโด่งดังมาก เพราะหลายคนที่ดูสนใจและเรียกร้องอยากให้มีการพิจารณาของโจ รวมถึงคดีการหายตัวของสามี แครอล บาสกิ้นใหม่อีกครั้ง
ว่ากันที่ผู้กำกับ และผู้อำนวยการสร้างสารคดีชุดนี้อย่าง อีริค กู้ดด์ วัย 62 ปีนับว่าน่าสนใจ เพราะเขาไม่ได้มีชื่อเสียงในด้านการทำภาพยนตร์หรือหนังสารคดีมาก่อน แต่เป็นผู้ประกอบการทำธุรกิจไนท์คลับที่โด่งดังตั้งแต่ยุค 80s ในนิวยอร์คอย่าง Area และกิจการโรงแรม สถานบันเทิงอีกหลายแห่ง ในอีกด้านจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่ออนุรักษ์สัตว์ และก่อตั้งบริษัท Goode Film Productions เพื่อเน้นการทำสารคดีที่ทำให้คนตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่าเหล่านี้ โดยมีประสบการณ์การทำสารคดีสัตว์ และกำกับมิวสิควิดีโอมาบ้าง หากงานชิ้นนี้ก็นับเป็นผลงานกำกับสารคดีขนาดยาวเต็มตัวเรื่องแรก
อีกหนึ่งผู้กำกับร่วมอย่าง รีเบคคา ไชคลิน นั้นร่วมงานกับกู้ดด์มานานตั้งแต่ยุค 90s ในฐานะที่เริ่มตั้งแต่พนักงานหน้าบาร์จนเป็นตำแหน่งผู้จัดการ เธอบอกว่าเขานิยามสารคดีเรื่องนี้คือ Breaking Bad แต่เปลี่ยนจากยามาเป็นสัตว์หายากแทน
กู้ดด์ใช้ความเป็นคนเลี้ยงสัตว์ป่าแต่เด็กของตัวเองก่อนจะเปลี่ยนเป็นความรัก และเปลี่ยนเป็นการก่อตั้งองค์กรอนุรักษ์ให้เป็นประโยชน์ในการเข้าถึงผู้คนที่เหมือนเข้าถึงยากเหล่านี้เพราะพูดภาษาเดียวกัน และทำให้การสัมภาษณ์คนที่ดูต่างกันสุดขั้วอย่าง โจ เอ็กโซติค หรือ แครอล บาสกิ้น เป็นไปได้โดยง่าย
อาจกล่าวได้ว่านี่เป็นสารคดีที่ว่าด้วยชีวิตคนที่ยุ่งกับเสือมากกว่าเสือ เป็นงานที่ว่าด้วยการสู่จุดรุ่งโรจน์ก่อนร่วมหล่นของขบถคนหนึ่ง ที่เผยตั้งความชั่วช้า น่าชิงชัง แต่ก็มองเห็นความเป็นมนุษย์ในคนๆ นั้นไม่ต่างจากงานของ มาร์ติน สกอร์เซซี่ อย่าง Raging Bull (1980) หรือ The Wolf of Wallstreet (2013) เลยทีเดียว
ข้อมูลประกอบการเขียน