playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

รีวิว Sergio ความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่งของข้าหลวงใหญ่ยูเอ็น

Sergio

สรุป

ชีวิตการทำงานในสหประชาชาติที่น่าทึ่งของ เซอร์จิโอ วิเอรา เดอ เมลโล ที่กำลังตกอยู่ในสถานการณ์คับขันที่อิรัก แม้หนังจะถ่ายทอดหลายฉากได้อย่างเข้มข้น และสมจริง แต่ก็ไม่ถึงโดดเด่นกว่าหนังสงครามยุคหลังเหตุการณ์ 9/11 นัก

Overall
6.5/10
6.5/10
Sending
User Review
5 (1 vote)
Comments Rating 0 (0 reviews)

Pros

  • ชีวิตการทำงานที่น่าเป็นแบบอย่างของตัวเอก
  • การถ่ายทำที่สมจริงผสมผสานแนวทางแบบสารคดีได้ลงตัว
  • บางฉากถ่ายทอดได้ทรงพลังและกินใจ

Cons

  • ชีวิตตัวเอกเป็นคนสมบูรณ์แบบจนขาดสีสัน
  • บทบาทของตัวเอกเรียกร้องพลังการแสดงที่มากกว่านี้
  • ไม่ต่างจากหนังสงครามยุคหลังเหตุการณ์ 9/11 มากนัก

ชีวิตของบุคคลที่ประสบความสำเร็จระดับสูงของโลกบ่อยครั้งได้ถูกดัดแปลงนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ หลายคนอาจถูกหลงลืมเนื่องจากไม่ได้มีชื่อเสียงโดดเด่นยาวนาน หรือถูกสื่อมวลชนติดตามจนเป็นที่รู้จักทุกแง่มุม โดยหนังบางเรื่องถูกแต่งแต้มสีสันฉูดฉาดเกินจริงจนเลยเถิด บางเรื่องพยายามคงรักษาความเป็นปุถุชนเอาไว้จนสุ่มเสี่ยงจะน่าเบื่อซ้ำซาก Sergio หนังที่ได้ฉายเปิดตัวรอบปฐมทัศน์โลกต้นปีที่ผ่านมาในเทศกาลหนังซันแดนซ์ ก่อนจะเริ่มให้ชมผ่านเน็ตฟลิกซ์เป็นงานอย่างหลัง ที่แม้จะมองเห็นถึงความพยายามและส่วนที่โดดเด่น แต่ก็นับว่าสอบผ่านแบบเฉียดฉิว

 Sergio (2020) on IMDb
คะแนนเฉลี่ย IMDB

ตัวอย่าง Sergio (เซอร์จิโอ)

หนังเล่าเรื่องราวของ เซอร์จิโอ วิเอรา เดอ เมลโล (วากเนอร์ มูร่า จากซีรีส์ Narcos รับบท Pablo Escobar) ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษย์ชนของสหประชาชาติชาวบราซิลที่ทำงานนี้มานานกว่า 34 ปี และได้รับการยกย่องจากผลงานที่ทุ่มเทของเขา ชายผู้นี้เดินทางไปยังประเทศซึ่งอยู่ในห้วงความขัดแย้งทางการเมืองมากมาย เกิดสงครามกลางเมือง และการสู้รบระหว่างประเทศ ทั้งกัมพูชา ติมอร์ตะวันออก บอสเนีย หรืออิรัก ดังที่เขากล่าวไว้ในตอนเปิดเรื่องว่า

“อย่าได้ลืมว่าความท้าทายและรางวัลที่แท้จริงของการทำงานให้สหประชาชาติคือในภาคสนาม” ก่อนจะพาเราไปพบกับงานที่ต้องคานอำนาจของสหรัฐอเมริกาที่พยายามจะยึดครองอิรัก ขณะกำลังเปิดโปงการละเมิดสิทธิมนุษยชน และพยายามยึดครองบางพื้นที่ของสหรัฐฯ พอรู้ตัวอีกทีเขาก็จมอยู่กับซากตึกสหประชาชาติในกรุงแบกแดดเสียแล้ว…

องค์การสหประชาชาติก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1945 หลังสงครามโลกครั้งที่สองเพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือในด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ เจรจายุติสงครามที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศ โดยมีสมาชิกเข้าร่วมจำนวนมากจนนับเป็นองค์กรของโลก แต่ในอีกด้านก็ถูกวิจารณ์ถึงความไม่เป็นกลาง เป็นเพียงหุ่นเชิดภายใต้การกำหนดทิศทางจากประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาจนขาดประสิทธิภาพ.

หากผลงานหลายอย่างของเขานั้นนับว่าน่าทึ่งและกล้าหาญ หนึ่งในนั้นคือความพยายามเจรจาทางการทูตให้ประเทศอินโดนีเซีย คืนความเป็นเอกราชแก่ติมอร์ตะวันออก โดยทำการขอโทษที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมากตลอดเวลา 24 ปี จนเพื่อนร่วมงานของเขาในทีแรกถึงกับบอกว่าสิ่งที่เขาคิดนั้นแทบเป็นไม่ได้เลยในขณะที่ตอนนั้นอินโดนีเซียเรืองอำนาจยิ่งในภูมิภาคแถบนั้น

เกร็ก บาร์คเกอร์ จัดเป็นหนึ่งในผู้กำกับอเมริกันยุคใหม่ที่ได้รับการจับตามองในฐานะคนทำหนังประเด็นการเมืองอย่างเข้มข้นมาโดยตลอด ก่อน Sergio ซึ่งเป็นการเขียนบทของ เคร็ก บอร์เต็น ซึ่งโด่งดังจาก Dallas Buyers Club ซึ่งคว้าออสการ์สาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยมในปี 2014 งานของเขาเป็นหนังสารคดีการเมืองระหว่างประเทศอันเข้มข้นที่คว้ารางวัลมามากมาย ไม่ว่าจะเป็น Ghosts of Rwand(2004) และ Manhunt: The Search for Bin Laden (2013) รวมไปถังสารคดีชีวประวัติของ เซอร์จิโอ มาก่อนในปี 2009 นั่นคือ Sergio โดยดัดแปลงจากหนังสือชีวประวัติ Sergio: One Man’s Fight to Save the World ของ ซาแมนธา พาวเวอร์ นักเขียนรางวัลพูลิตเซอร์ ที่กวาดรางวัลจากเทศกาลต่างๆ มามากมาย

ความโดดเด่นที่เห็นได้ชัดจากงานที่ผ่านมา ส่งผลต่อผลงานหนังคนแสดงเรื่องนี้ เขาสามารถคุมบรรยากาศของความวุ่นวายท่ามกลางสงครามในเมืองต่างๆ ที่เซอร์จิโอไปเยือนได้อย่างสมจริง หลายฉากใช้เทคนิคแบบสารคดี ทั้งภาพข่าว ภาพเหตุการณ์จริง การถ่ายด้วยเทคนิคแฮนด์เฮลด์ที่กล้องไม่ต้องเหวี่ยงจนลายตา จนทำให้เรามองเห็นการทำงานที่เหนื่อยยากของชายคนนี้ได้ตั้งแต่ต้น

ปัญหาของงานหนังขนาดยาวเรื่องแรกของบาร์คเกอร์คือการเลือกตัวเอกที่มานำเสนอ เซอร์จิโอเป็นคนยิ่งใหญ่ ชีวิตผ่านสงครามการเมืองหลากหลายประเทศอย่างชนิดที่คงมีน้อยคนนักจะเคยมีประสบการณ์เช่นเดียวกับเขา ซึ่งน่าจะเกิดเหตุการณ์ตื่นเต้นมากมาย ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ แต่บุคลิกของเขาราบเรียบ และมีความเป็นคนดีจนขาดสีสันอื่นๆ เกินไป

ผู้กำกับพยายามอย่างยิ่งที่จะนำเสนอความซับซ้อนจากชีวิตอันผ่านอะไรมามากมาย ด้วยการตัดสลับช่วงเวลาคับขันของชีวิตเซอร์จิโอขณะติดอยู่ในซากตึกสำนักงานสหประชาชาติ ณ กรุงแบกแดดที่ระเบิดอย่างไม่ทันตั้งตัว กับเหตุการณ์สำคัญที่ผ่านเข้ามาในอดีต ช่วงเวลาตัดสินใจสำคัญที่เขาต้องฟันฝ่าไปให้ได้ ซึ่งก็นับว่าเป็นความพยายามที่ช่วยให้หนังมาไกลกว่าหนังชีวประวัติทั่วไป

ปัญหาอีกประการของหนังคือการมีภาพเป็นหนังที่นำเสนอเหตุการณ์สงครามต่อต้านการก่อร้าย หรือหนังยุคเหตุการณ์ 9/11 ซึ่งถูกผลิตหนังอิงจากเหตุการณ์ดังกล่าวออกมาจำนวนมาก มีเรื่องเล่าต่างๆ ไม่รู้จบ แต่หนังกลุ่มนี้กลับแห้งแล้งอาจด้วยบรรยากาศของตะวันออกกลาง และตัวเรื่องเองที่มักนำเสนอภาพเมืองเต็มไปด้วยความทุกข์ยาก และนำเสนอสารการเมืองไม่ในทางโปรอเมริกา ก็ต่อต้านความพยายามเข้าไปยึดครองของสหรัฐฯ

หนังเรื่องนี้เองแม้จะพยายามเลือกเรื่องที่ต่างออกไปก็ไม่พ้นอุปสรรคดังกล่าว บรรยากาศอันชวนกดดัน เมืองที่รอวันระอุจากไฟสงครามส่งผลให้หนังมักเคร่งเครียด ขาดความผ่อนคลาย หรือเมื่อพยายามจะผ่อนคลาย พื้นที่ของมันก็ไม่มีจังหวะดีพอ กลายเป็นความประดักประเดิดไปแทน ดังฉากหนึ่งในหนังเรื่องนี้ที่พยายามให้เห็นมุมมองความเป็นมนุษย์ของตัวเอกขณะอยู่ในเมืองติมอร์ ความรักของเขากับคาโลไรน่า และจูบท่ามกลางสายฝนกันอยางดูดดื่มโดยไม่แคร์สายตาใคร เป็นฉากที่ดูเร่าร้อน โจ่งแจ้งจนผิดที่ผิดทางอย่างน่าเสียดาย

ตัวละครแบบ เซอร์จิโอ ชวนให้นึกถึงบทบาทในอดีตเช่น To Kill a Mocking Bird (1962) กับ เกรกอรี่ เป๊ค ในบท แอคติคัท ฟินซ์ หรือ Saving Private Ryan (1998) กับ ทอม แฮงค์ ในบทผู้การ ที่ต้องใช้นักแสดงที่บุคลิกเข้ากับบุคลิกดังกล่าวจริงๆ คนที่ทำให้เราเชื่อได้ทันทีว่าเป็นคนดี ต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ซึ่ง วากเนอร์ มูร่า (Narcos และ Elite Squad) เองพยายามได้ดีและน่าจะเป็นบทบาทสำคัญในชีวิตบทหนึ่งของเขา โดยตัวบทเองก็เผยด้านลบของชีวิตชายผู้นี้ไม่น้อยทั้งความบ้างานจนแทบไม่รู้จักลูก หรือนอกใจภรรยา แต่เหมือนบทดังกล่าวก็ยังต้องการเรียกร้องจากเขามากกว่านั้น

หากคนที่ดูจะมีปัญหากว่าคือ อนา เดอ อาร์มาส (Blade Runner 2049) ในบทคาโรไลน่า นักเศรษฐศาสตร์สาวชาวบราซิลที่เข้ามาทำงานสหประชาชาติด้วยความมุ่งมั่น ชู้รักของเซอร์จิโอที่อายุต่างกันคราวลูก ที่เป็นเสมือน Muse หรือผู้หญิงซึ่งเป็นแรงบันดาลใจ เป็นการเดินทางสู่อุดมคติที่เป็นไปไม่ได้ในติมอร์ หากบุคลิกและการแต่งตัวของเธอนั้นยั่วเย้าและเซ็กซี่เกินไป จนยากจะเชื่อว่าเธอทำงานด้านนี้ รวมไปถึงฉากเลิฟซีนที่สุดเร่าร้อนเกินไปสักนิด

อย่างไรก็ตามหลายฉากในผลงานเรื่องนี้ก็ถ่ายทอดดีมากๆ เห็นได้ชัดว่าความเป็นคนทำสารคดีของบาร์คเกอร์ ทำให้เขาสามารถเผยแง่มุมชีวิตอันแสนเศร้าของคนตัวเล็กๆ ในติมอร์ ซึ่งกลายเป็นประโยคสำคัญของเรื่องที่กล่าวถึงสัจธรรมของมนุษย์ได้กินใจอย่างยิ่ง

“ตลอดชีวิตของฉัน ฉันทำไร่ทำนา วันนี้ผืนดินของฉัน ครอบครัวของฉันตายไปหมดแล้ว ฉันไม่เหลืออะไรอีก รู้ไหมว่าฉันต้องการอะไร ฉันอยากขึ้นไปบนฟ้าไปเป็นก้อนเมฆ แล้วก็เดินทางข้ามขอบฟ้าไปยังที่ที่ฉันเกิด และพอไปถึงที่นั่นก็ร่วงลงมาเหมือนเม็ดฝน จากนั้นก็อยู่ที่นั่นไปตลอดกาลบนดินของฉัน บนแผ่นดินของฉัน…”

สิ่งที่เซอร์จิโอทำอาจไม่ใช่เพราะความดี มีมนุษยธรรมสูงส่ง เขาเพียงคืนความเป็นมนุษย์ให้สถานที่ซึ่งเขาเดินทางไป ไม่มีใครอยากอยู่ในสภาพที่ลดทอนความเป็นคนดังเช่นสภาพสงครามกลางเมือง เขาแค่อยากได้เป็นในสิ่งที่ควรเป็นก็เท่านั้นเอง

เซอร์จิโอ เสียชีวิตจากการถูกโจมตีในที่ทำการสหประชาชาติ กรุงแบกแดด กลายเป็นจุดเปลี่ยนของอิรัก และสิ้นสุดยุคทางการทูตของสหประชาชาติ ประเทศเข้าสู่สงครามกลางเมืองอันยาวนาน


Leave a comment
รีวิว Black Doves พิราบเงา (Netflix) ซีรีส์สายลับที่ตัวละครมีเสน่ห์ซับซ้อนคมคายสุดๆ