รีวิว จิบลิ อนิเมะ Ghibli Netflix ที่เข้าทั้ง 21 เรื่อง เรื่องไหนสนุกบ้าง แนะนำจุดเด่นจุดด้อย
อนิเมะ 21 เรื่องจากสตูดิโอจิบลิ
สรุป
ถ้าเป็นคอการ์ตูน อนิเมะ แล้วไม่เคยดูผลงานของ สตูดิโอจิบลิ ถือว่าเสียหายมาก ซึ่งทั้ง 21 เรื่องที่เข้าสู่ Netflix เป็นผลงานคุณภาพสูงทุกเรื่อง แม้แต่เรื่องที่สนุกน้อยของสตูดิโอก็ยังทำได้ดีกว่าผลงานของค่ายอื่น ดูได้ทั้งครอบครัวพ่อแม่ลูก ให้ความบันเทิงแล้วยังสะท้อนสังคม ชีวิต แฝงแง่คิด ทุกเรื่องเมื่อกลับมาดูซ้ำแล้วอาจจะได้ความรู้สึกที่เปลี่ยนไป
Overall
10/10User Review
( votes)Pros
- ทั้ง 21 เรื่องมีคุณภาพสูงทั้งหมด ในแง่โปรดักชั่น ความละเมียดละไม เนื้อเรื่อง งานภาพ เพลงประกอบ พล็อต
- ทุกเรื่องจะให้แง่คิดบางอย่าง ที่เมื่อเอากลับมาดูซ้ำ อาจจะมีมุมมองที่แตกต่างไปเรื่อยๆตามอายุ
- ผลงานเก่าๆในยุค 80-90 ยังมีความร่วมสมัยสูง ไม่เชย บางเรื่องเอากลับมาดูซ้ำหลายรอบก็ยังสนุกอยู่
- มีทุกแนว แฟนตาซี โรมานซ์ ไซไฟ ผจญภัย ดราม่า ลึกลับ สงคราม และทำได้ดีทุกแนวด้วย
- สร้างแรงบันดาลใจดีมากเกือบทุกเรื่อง เหมาะสำหรับเด็กและวัยรุ่น
Cons
- เป็นทั้งข้อดีและข้อเสียคือบางเรื่องดูใกล้จบแล้วจะรู้สึกว่า ยังไม่อยากให้จบ
- บางเรื่องช่วงท้ายจะจบห้วนๆเกินไปหน่อย
- งานของจิบลิหลายเรื่องไม่ค่อยใช้สูตรไคลแมกซ์ทั่วไป บางเรื่องเป็นแอนตี้ไคลแมกซ์
- เด็กเล็กอาจจะดูบางเรื่องแล้วได้แต่ความบันเทิง แต่ไม่เข้าใจในสิ่งที่เรื่องแฝงสารไว้ ต้องมีอายุและประสบการณ์ชีวิตระดับหนึ่ง
แนะนำผลงานจากสตูดิโอจิบลิ 21 เรื่องที่เข้าสู่ Netflix เรื่องไหนสนุกบ้าง จุดเด่นและจุดด้อยมีอะไรบ้าง ผลงานขึ้นหิ้งของ ฮายาโอะ มิยาซากิ และทีมงาน
รีวิว+สปอยล์ Spirited Away ลิ้งก์ด้านล่าง
สตูดิโอจิบลิ ก่อตั้งโดย ฮายาโอะ มิยาซากิ ร่วมกับ อนิเมเตอร์และผู้กำกับชื่อดังอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดได้ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานมาอย่างต่อเนื่องกว่า 4 ทศวรรษ ทำให้กลายเป็นหนึ่งในค่ายหนังอนิเมะของญี่ปุ่นที่ได้รับการยกย่อง สร้างแบรนด์ของตนเองอยู่ในระดับโลก
ทีมงานของสตูดิโอยังได้สร้างสรรค์ผลงานที่กวาดรางวัลมากมายในหลายสถาบันทั้งของญี่ปุ่นและระดับโลก กระทั่งรางวัลออสการ์ก็ทำสำเร็จมาแล้ว เป็นเรื่องแรกของญี่ปุ่นและของเอเชีย
ซึ่งในโอกาสที่ผลงานอนิเมชั่นทั้ง 21 เรื่องของจิบลิ กำลังได้เข้ามาฉายใน Netflix ด้วยลิขสิทธิ์อย่างถูกต้อง หลายคนอาจสงสัยว่าแต่ละเรื่องไหนสนุกมากน้อยแค่ไหนบ้าง แล้วมีจุดเด่นหรือจุดด้อยตรงไหนบ้าง ก็จะได้มารีวิวให้ครบทั้ง 21 เรื่องครับ (อันที่จริงมีทั้งหมด 22 เรื่อง แต่สุสานหิ่งห้อย ไม่ได้ลิขสิทธิ์เข้ามาฉาย)
จิบลิ อนิเมะ รีวิว ทั้ง 21 เรื่อง
Spirited Away 2001
คะแนน 10/10
เข้าฉายใน Netflix วันที่ 1 มี.ค. 2020
อนิเมะที่เป็นระดับสุดยอดขึ้นหิ้งของวงการ ที่ได้กวาดรางวัลของหลายสถาบันในญี่ปุ่นและในระดับโลก โดยเฉพาะรางวัลที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับว่ายิ่งใหญ่ที่สุดอย่างออสการ์สาขาอนิเมชั่น (แม้ว่ายุคหลังรางวัลนี้จะเสียมนต์ขลังไปเยอะก็ตาม)
พล็อตเรื่องที่ว่าด้วย เด็กหญิง โอกิโนะ จิฮิโระ หรือที่ตัวละครในเรื่องเรียกว่า “เซ็น” ต้องย้ายบ้านตามพ่อแม่ไปอยู่นอกเมือง ซึ่งระหว่างการขับรถย้ายบ้านนั้น พวกเขาได้พบกับสถานที่และอุโมงค์ลึกลับ เซ็นได้แค่หวาดกลัว ไม่อยากให้พ่อแม่เข้าไปในอุโมงค์นั้น แล้วเมื่อพวกเขาขับรถผ่านอุโมงค์เข้ามา เซ็นก็ได้พบกับโรงอาบน้ำลึกลับ รวมถึงการได้พบกับเด็กหนุ่มลึกลับอย่าง ฮาคุ ทั้งหมดก็ทำให้ชีวิตของเซ็นต้องเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล
พล็อตเรื่องมีเท่านี้จริงๆ ซึ่งไม่สามารถสปอยล์ได้มากกว่านี้แล้ว ถึงแม้ว่านี่จะเป็นอนิเมชั่นที่ฉายจบไปแล้วตั้งแต่ปี 2001 แต่ถ้าเป็นคออนิเมะ แล้วยังไม่ได้ดูอนิเมะเรื่องนี้ ก็ถือว่ายังไม่ได้เสพผลงานระดับปรมาจารย์อย่างสมบูรณ์ครับ
ที่สำคัญนี่คืออนิเมะที่กวาดรายได้สูงสุดของจิบลิตลอดกาล และยังครองรายได้เป็นอันดับ 1 ของญี่ปุ่นอยู่นานกว่า 15 ปี กระทั่ง Your Name ของ ผกก. มาโคโตะ ชินไค เพิ่งมาเบียดแซงได้สำเร็จ
จุดเด่นที่สุดของเรื่องอยู่ที่ คาแรคเตอร์ตัวละคร และ ไอเดียในการสร้างสรรค์เรื่องราว โดยเฉพาะด้านพัฒนาการของตัวละคร นี่คือจุดเด่นที่สุดของเรื่อง แม้ว่าตัวอนิเมชั่นจะมีเวลาในการฉายจำกัด แต่เรื่องกลับแสดงให้เห็นพัฒนาการของเซ็น จากเด็กหญิงเอาแต่ใจและขลาดกลัว กลายเป็นเด็กหญิงที่ใจกล้าแกร่งและมีความคิดอ่านในระดับที่ผู้ใหญ่ก็ควรต้องเรียนรู้ไว้เลยครับ
หรือถ้าจะเอาจริงๆ ตัวละครเซ็นมีความคิดอ่านบางเรื่องที่ดีกว่าผู้ใหญ่อย่างพ่อแม่ของเธอตั้งแต่ตอนแรกที่เรื่องเปิดฉากด้วยซ้ำ เพียงแต่มันโดนความเอาแต่ใจและไม่อยากย้ายบ้านและย้ายโรงเรียนของเธอในช่วงครึ่งแรกมากลบบุคลิกตรงนี้ของตัวละครเอาไว้
ในส่วนของฮาคุ พระเอกของเรื่อง ถือว่าเป็นดีไซน์รูปแบบใหม่ของตัวเอกชายในผลงานของสตูดิโอเลยทีเดียว ซึ่งหลังจากก่อนหน้านี้ได้สร้างตัวละครเอกชายแบบชุนใน Whisper of the Heart และสายสุดยอดลูกผู้ชายอย่าง เจ้าชายอาชิทากะ ใน Princess Mononoke มาแล้ว รอบนี้ เป็นการสร้างตัวละครชายแนวฉลาด มาดขรึม แต่อบอุ่น แบบฮาคุขึ้นมาได้ (ก่อนจะไปสร้างพระเอกสายอีโก้สูงและปากเสียแบบฮาวส์ขึ้นมา)
เรื่องนี้ยังได้ออกแบบตัวละครรองๆที่ประสบความสำเร็จมาก เช่น ปีศาจเงา ที่โด่งดังและมีคนชอบไม่น้อย รวมถึงการเซตติ้งโลกของเหล่าภูติ และแฝงนัยยะการปกป้องสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ตัวเรื่องยังดีไซน์ออกมาได้มีความเป็นญี่ปุ่นสูงยิ่งกว่าตอนที่ทำ Princess Mononoke เสียอีก
ในภาพรวมแล้ว หากถามว่า Spirited Away คู่ควรและยอดเยี่ยมขนาดเป็นสุดยอดอนิเมะตามที่หลายสถาบันยกย่องนั้น จริงแท้แค่ไหม แนะนำว่า “ต้องดูด้วยตาตนเองครับ” นี่คืออนิเมะที่ยากจะสปอยล์ได้ หรือต่อให้สปอยล์ออกมา คนอ่านก็คงไม่มีทางเข้าใจได้ หากไม่ได้ลองดูด้วยตาของตนเอง
Princess Mononoke 1997
คะแนน 10/10
เข้าฉายใน Netflix วันที่ 1 มี.ค. 2020
หนึ่งในผลงานระดับตำนานขึ้นหิ้งคลาสสิกที่ได้เข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศเป็นเรื่องแรกของสตูดิโอจิบลิวงการอนิเมะญี่ปุ่น หากได้รับชมแล้ว เชื่อว่าคนส่วนมากก็น่าจะเห็นด้วยว่า เรื่องนี้คู่ควรจริงๆ แม้ว่าสุดท้ายแล้วเรื่องนี้จะไม่ได้รางวัลก็ตาม แต่ถือว่านี่คือเรื่องที่สามารถออกไปบุกเบิกตลาดในระดับโลกให้กับทางค่ายได้อย่างเป็นทางการเรื่องแรก ก่อนที่ภายหลัง Spirited Away จึงสามารถคว้าออสการ์มาได้สำเร็จ
เรื่องราวบอกเล่าการเดินทางของ เจ้าชายอาชิทากะ โดยจับความในยุคโบราณของญี่ปุ่นที่มนุษย์ยังต้องใช้ชีวิตผูกพันกับธรรมชาติและความเชื่อในแต่ละท้องถิ่น “เจ้าชายอาชิทากะ” เป็นนักรบหนุ่มที่ปกป้องเผ่าและหมู่บ้านของตนจากสัตว์ร้าย ภัยธรรมชาติ ไปจนถึงอมนุษย์ สัตว์ประหลาด และสิ่งเหนือธรรมชาติต่างๆ แต่เขากลับถูกคำสาปในระหว่างที่เอาตัวเองปกป้องหมู่บ้าน ทำให้แขนข้างหนึ่งของเขามีปีศาจสิงสถิตย์อยู่ ดังนั้นเขาจึงต้องออกเดินทางเพื่อหาหนทางแก้ไขคำสาปนั้นตามคำทำนายของแม่เฒ่าประจำหมู่บ้าน
แล้วในการเดินทางก็ได้ทำให้เขาพบว่า โลกภายนอกนั้นช่างมีวิถีชีวิตที่ไม่เหมือนกับหมู่บ้านของเขาเลย อีกทั้งตัวเขาก็ต้องเข้าพัวพันกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสิงสาราสัตว์ในป่า ไปจนถึงการค้นหาและแย่งชิงอำนาจลี้ลับของเทพเจ้าแห่งป่า แล้วยังทำให้เขาได้พบกับ “ซัน เจ้าหญิงหมาป่า” เด็กสาวผู้ที่เกิดและเติบโตท่ามกลางฝูงหมาป่าและเหล่าสัตว์ป่าที่ถูกพวกมนุษย์รุกราน ซันจึงร่วมกับฝูงหมาป่าของเธอต่อสู้กับพวกมนุษย์ ในขณะที่ฝั่งมนุษย์เองก็มองสัตว์ป่าเป็นศัตรูเช่นกัน
เจ้าชายอาชิทากะ ผู้ที่เกิดความผูกพันพิเศษกับซัน แล้วได้เข้ามาอยู่ระหว่างกลางของความขัดแย้งที่ยากจะหาทางลงรอยนี้ จึงต้องหาทางคลี่คลายสถานการณ์ที่ซับซ้อนซึ่งไม่ได้มีฝ่ายใดผิดถูกอย่างแท้จริง ไปจนถึงค้นหาหนทางแก้คำสาปของตนไปด้วย
ด้านพล็อตเรื่อง ที่จริงแล้วเรื่องนี้มีองค์ประกอบของเรื่องราวคล้ายกับ นาอูซิก้า ที่เป็นผลงานเรื่องแรกที่สร้างชื่อให้สตูดิโอ แต่เป็นการนำมาดัดแปลงใหม่ ให้ดิบเถื่อนและดาร์กขึ้น แล้วเรื่องนี้ยังมีความโดดเด่นมากในแง่ของการเล่าเรื่องและตัวละครที่แตกต่างจากหลายเรื่องของจิบลิที่ผ่านมา เนื่องจากเรื่องของจิบลิทั้งหมดก่อนหน้านี้นิยมใช้นางเอกเป็นตัวหลักในการเล่าเรื่อง หรือเป็น Mentor ของเรื่องราว มีแค่ Laputa ที่มุมมองของทั้งคู่พระ-นาง ใกล้เคียงกัน แต่สำหรับ Princess Mononoke ใช้ตัวละครชาย หรือพระเอก เป็นตัวเล่าเรื่องหลัก แล้วสำหรับคนที่ชอบอนิเมะสายแอ็กชั่นแฟนตาซี แล้วอยากดูหนังของจิบลิ ก็สามารถเริ่มดูจากเรื่องนี้ได้เลยครับ เพราะเป็นเรื่องที่แอ็กชั่นมากที่สุดของจิบลิแล้ว แถมยังนำเสนอได้ค่อนข้างดาร์ก เรียล ดิบ เถื่อน ที่สุดของจิบลิด้วย
เนื่องจากระหว่างการเล่าเรื่องไปจนถึงบทสรุปของเรื่องราว คนดูจะพบว่าไม่มีฝ่ายใดผิดถูกไปหมด ตัวละครมีความเป็นสีเทาสูงมาก อาจจะมากที่สุดในบรรดาอนิเมชั่นของจิบลิเลยก็ว่าได้ นางเอกอย่าง ซัน ก็ไม่ได้เป็นนางเอกประเภทสีขาวหรือนิสัยดีเหมือนนางเอกทั่วไป คือเป็นนางเอกที่มีมุมค่อนข้างโหดร้ายป่าเถื่อนพสมควร นอกจากนี้ในมุมมองของซันแล้ว มนุษย์ถือว่าเป็นศัตรูของป่าที่เธอต้องสังหาร เรียกว่าเธอพร้อมจะทำเรื่องโหดเหี้ยมถ้าเพื่อจัดการศัตรูได้ เป็นไม่อนิเมะของจิบลิที่นำเสนอภาพของสงครามและความขัดแย้งระหว่างเผ่าพันธุ์ได้ชัดเจนและดุดันมาก แล้วยังไม่ได้แค่ฉายภาพความโหดร้ายและความโลภของมนุษย์เท่านั้น แต่ยังเลือกนำเสนอความโหดร้ายและดิบเถื่อนของเหล่าสัตว์ป่าที่ก็มีการแบ่งพรรคแบ่งพวกกันเองและไม่ได้สนใจฟังเหตุผลเช่นกัน นั่นทำให้ทั้งตัวเอกและตัวร้ายในเรื่องไม่ได้มีใครผิดถูกชัดเจน
แต่ถ้าจะหาตัวละครที่เป็นด้านสว่างที่สุดในเรื่องนี้ ก็คงเป็นพระเอกอย่างอาชิทากะ ซึ่งถือว่าเป็นตัวเอกชายที่น่าจะได้รับความนิยมสูงสุดของจิบลิด้วย โดยบทสรุปของเรื่อง ก็ไม่ได้จบแบบ Happy ไปหมด แต่จบตามที่เรื่องราวควรจะเป็น
ในแง่โปรดักชั่นและการเขียนบท เรื่องนี้ยังถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของสตูดิโอ เพราะเป็นการนำวิสัยทัศน์ของฮายาโอะและทีมงานให้เผยแพร่ออกสู่โลกอย่างเต็มตัว แม้ว่าเรื่องยังมีความเป็นญี่ปุ่นจ๋าตามเซตติ้งของเรื่อง แต่แนวคิดและความขัดแย้งในเรื่องนี้มีความเป็นสากลและร่วมสมัยสูงมาก ชนิดที่เอามาฉายในยุคปัจจุบัน ก็ยังคงทันสมัยอยู่ ซึ่งอาจจะบอกว่าเรื่องนี้คือจุดเริ่มต้นของการโกอินเตอร์อย่างจริงจังของ Studio Ghibli ก็ว่าได้ครับ
เมื่อมีการจัดอันดับของสถาบันต่างๆ จะพบว่า Princess Mononoke มักถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 2 ของสตูดิโอ เป็นรองเพียงแค่ Spirited Away เรื่องเดียวเท่านั้น
My Neighbor Totoro 1988
คะแนน 9.5/10
เข้าฉายใน Netflix วันที่ 31 ม.ค. 2020 (คลิกรับชมที่นี่)
ผลงานชื่อดังของจิบลิ ซึ่งในสมัยที่เริ่มฉายไม่ได้ประสบความสำคัญมากนัก แต่กลับกลายเป็นเรื่องที่โด่งดังระดับขึ้นหิ้งคลาสสิก จนถึงขั้นที่สร้างตัวละครมัสคอต “Totoro” โทโทโระ ให้กับสตูดิโอ แล้วดังไปทั่วโลก
เรื่องเกี่ยวกับคู่พี่น้อง ซัตสึกิ และ เมย์ ที่ติดตามพ่อมาอยู่ในชนบท เพื่อที่พวกเขาจะได้อยู่ใกล้ชิดกับแม่ที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล แล้วในคืนหนึ่งที่ทั้งสองพี่น้องไปยืนรอรับพ่อที่ป้ายรถเมล์ พวกเธอทั้งสองก็ได้พบกับ โทโทโระ สิ่งมีชีวิตแปลกประหลาด ซึ่งก็ได้นำเด็กน้อยทั้งสองเข้าสู่โลกของเหล่าภูตและจินตนาการที่เหนือจริง แต่ในขณะเดียวกัน ชีวิตในโลกความจริงก็ยังต้องดำเนินต่อไป
โทโทโระ เป็นผลงานประเภทที่ “ดูรอบแรกอาจจะเฉยๆ” ในขณะเดียวกันเมื่อคนดูมีอายุมากขึ้น ได้ผ่านประสบการณ์ชีวิตเพิ่ม ก็อาจจะมองเรื่องราวนี้แตกต่างออกไป รวมถึงอาจจะเข้าใจสิ่งที่อนิเมชั่นเรื่องนี้สื่อสารออกมาด้วย โดยเฉพาะเรื่องราวในสไตล์ Coming of Age ที่เรื่องเล่าผ่านตัวซัตสึกิ ที่ด้านหนึ่งยังคงสดใสร่าเริงและมีความเชื่อเรื่องจินตนาการ รวมถึงการได้พบกับโทโทโระก็ยิ่งตอกย้ำความเชื่อของเธอ (เหมือนที่เด็กในวัยหนึ่งๆยังคงเชื่อเรื่องซานตาคลอส) แต่อีกด้านหนึ่ง เรื่องตัดสลับไปที่อาการป่วยของแม่ที่อยู่บนโลกของความเป็นจริง
สำหรับการผจญภัยในโลกแห่งจินตนาการของเรื่องนี้ อาจจะไม่ได้หวือหวาหรือพิสดารมาก แต่ก็เป็นการเติมเต็มจินตนาการในวัยเด็กที่เราอาจจะลืมไปได้อย่างดีครับ ที่สำคัญคือ เป็นการผสมผสานระหว่างจินตนาการและความเป็นจริงที่โหดร้ายที่คนเราจะต้องพบเจอได้อย่างดี
ด้านตัวละครและสิ่งที่เรื่องนี้ได้สร้างไว้ กลายเป็นมรดกและแนวทางสำคัญให้กับวงการอนิเมะ รวมถึงแนวทางของจิบลิเองด้วย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสรรค์ โทโทโร่ รถเมล์แมว ไปจนถึงเจ้าฝุ่นดำตัวจิ๋ว ซึ่งจะได้นำกลับมาใช้อีกใน Spirited Away นั่นคือแนวทางที่สิ่งลี้ลับหรือสิ่งเหนือธรรมชาติจะใช้ชีวิตร่วมกับมนุษย์ โดยเฉพาะความเชื่อแนวภูตผีประจำท้องถิ่น หรือวิญญาณในสถานที่ต่างๆ ซึ่งเป็นความเชื่อในชนบทที่ยังเห็นกันอยู่ในวิถีชีวิตประจำวัน
อีกทั้งนี่เป็นเรื่องแรกของค่ายที่มาในแนว “ไม่ได้มีพล็อตเรื่องยิ่งใหญ่” หรือเรื่องสเกลใหญ่ๆ ไม่เหมือนแบบที่ทำกับนาอูซิก้า และ ลาพิวต้า นางเอกของเรื่องอย่างซัตสึกิเป็นแค่เด็กผู้หญิงธรรมดาที่นิสัยอยากรู้อยากเห็น ไม่ได้มีความสามารถพิเศษอะไรมากมาย แต่มันกลับสามารถเล่าเรื่องให้สนุกและน่าติดตามได้ผ่านทางชีวิตประจำวันเรียบง่ายของคู่พี่น้องซัตสึกิและเมย์ โดยที่ตัวละครก็ไม่ได้ไปไหนไกลมากกว่าแค่ป้ายรถเมล์แถวบ้าน แต่แค่นี้ก็สามารถสร้างเรื่องราวการผจญภัยที่สุดคาดเดาออกมาได้
ซึ่งพล็อตและแนวทางเรื่องสไตล์นี้ จิบลิก็ได้ปรับปรุงแล้วนำไปใส่ไว้ในผลงานหลายเรื่องของตนเอง แล้วก็มาถึงจุดพีคสุดขีดใน Spirited Away แล้วที่สำคัญคือ นี่เป็นผลงานแนวออริจินอลของฮายาโอะเองด้วย
โดยส่วนตัวแล้วนี่เป็นหนึ่งในเรื่องที่เหมาะจะให้พ่อแม่นั่งดูพร้อมกับเด็กๆไปด้วย เด็กๆอาจจะสนุกกับจินตนาการในเรื่อง ส่วนพ่อแม่ก็อาจจะได้หวนนึกถึงจินตนาการที่เคยมีกลับมาก็ได้เช่นกันครับ
Nausicaa of the valley of the wind 1984
คะแนน 9.5/10
เข้าฉายใน Netflix วันที่ 1 มี.ค. 2020
ผลงาน Original Animation เรื่องแรกของ ฮายาโอะ มิยาซากิ และ สตูดิโอจิบลิ ส่งให้ชื่อของเขากลายเป็นผู้กำกับที่มีวิสัยทัศน์โดดเด่น ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นผลงานออริจินอลเรื่องแรกที่เขาได้สร้างขึ้นเอง (หากไม่นับ Lupin III)
เรื่องราวในโลกอนาคตอันไกลโพ้นนับพันปี เมื่อโลกถูกทำลายโดยสภาพอากาศที่เป็นมลภาวะและจากภัยสงคราม นาอูซิก้า เจ้าหญิงผู้เก่งกาจที่ใช้ชีวิตอยู่ในดินแดนอันแห้งแล้งที่ต้องเผชิญกับเหล่าแมลงยักษ์สัตว์ประหลาด ในดินแดนแห่งสายลม ขณะเดียวกันเธอก็พบว่าประเทศข้างเคียงสองแห่งก็กำลังจะก่อสงครามครั้งใหญ่ ซึ่งดินแดนของเธอต้องมาอยู่ระหว่างกลางความขัดแย้งนั้น อีกทั้งปริศนาของพวกแมลงยักษ์ที่ถูกเข้าใจว่าเป็นพวกที่ทำลายพื้นผิวโลก มันอาจจะไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไปก็ได้
สำหรับเรื่อง นาอูซิก้า เคยได้รับการโหวตในรางวัลอนิเมะกรังปรีซ์อวอร์ด ซึ่งเป็นรางวัลชั้นนำในญี่ปุ่น โดยได้รางวัลในสาขาออริจินอลอนิเมะชั่นยอดเยี่ยมติดต่อกันนานหลายปี ตัวละครนาอูซิก้าก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของตัวเอกหญิงที่มีทั้งความเข้มแข็ง กล้าหาญ ความอ่อนไหว และมีจิตใจดี มีเมตตา เป็นต้นแบบของนางเอกที่เพียบพร้อมในวงการอนิเมะญี่ปุ่นเมื่อยุค 80 เป็นต้นมา
จุดเด่นอีกอย่างคือ ความร่วมสมัยของเรื่องราว เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในเรื่องที่ทำให้โลกเข้าสู่กลียุค ในปัจจุบันก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ไกลตัวอีกแล้ว แต่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ถ้ามนุษย์เรายังไม่หาทางแก้ไข ในส่วนของดีไซน์ก็มีความโดดเด่น ในแง่เมคานิคไซไฟแบบดิสโทเปีย
จุดด้อยก็พอมีอยู่บ้าง คือในแง่ของงานภาพ ลายเส้น และการเล่าเรื่องบางจุดที่ก็ยังมีความเป็นอนิมะยุคเก่าจากต้นยุค 80 ซึ่งบางอย่างอาจจะดูเชยไปบ้างเอากลับมาดูตอนนี้ แต่ในภาพรวมแล้ว เรื่องนี้ก็ยังคงมีความคลาสสิก และเป็นต้นแบบของอนิเมะจากจิบลิเกือบทุกเรื่องจนถึงตอนนี้ด้วย เพราะถ้าไม่มีนาอูซิก้า ก็อาจจะไม่มีความสำเร็จอื่นๆตามมาในยุคหลังเช่นกันครับ
The Tale of Princess Kaguya 2013
คะแนน 9.5/10
เข้าฉายใน Netflix วันที่ 1 มี.ค. 2020
พล็อตเรื่องเกี่ยวกับ “เจ้าหญิงคางุยะ” หรือ เจ้าหญิงกระบอกไม้ไผ่ ซึ่งเป็นตำนานพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากในความเชื่อของคนญี่ปุ่น เรื่องราวเล่าเกี่ยวกับ คางุยะ เด็กผู้หญิงที่ถือกำเนิดมาจากกระบอกไม้ไผ่ ซึ่งเป็นนิทานพื้นบ้านในศตวรรษที่ 10 โดยมีการนำเสนอเรื่องราวในแบบ Bitter Sweet ตามตำนาน
สำหรับเรื่องนี้เป็นการกลับมากำกับให้กับอนิเมะของ Studio Ghibli โดย ผู้กำกับ อิซาโอะ ทาคาฮาตะ หนึ่งในผู้ก่อตั้งสตูดิโอร่วมกับ ฮายาโอะ มิยาซากิ ซึ่งผลงานระดับมาสเตอร์พีซในอดีตของเขาก็คือ Grave of the Fireflies หรือ สุสานหิ่งห้อย แต่เขาได้เสียชีวิตลงด้วยมะเร็งปอดในปี 2018 ทำให้เจ้าหญิงคางุยะกลายเป็นผลงานกำกับเรื่องสุดท้ายของเขาไปด้วย
ความสุดยอดของอนิเมชั่นเรื่องนี้ก็คือ “งานภาพ” ที่นำเสนอได้อย่างมีสไตล์เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีรสชาติพิเศษที่แตกต่างไปจากงานเรื่องอื่นของจิบลิ และที่สำคัญ นี่คืองานที่สามารถถ่ายทอดด้านอารมณ์แบบหนักหน่วงของตัวละครเอกได้ชนิดที่พาคนดูจมลงก้นบึ้งได้ด้วยมากที่สุดของสตูดิโอ ถ้าจะบอกว่า นี่คือผลงานที่ดูแล้วชวนอึดอัดและเศร้าตามตัวละครที่สุดเรื่องหนึ่งของค่ายนี้นอกจากเรื่อง สุสานหิ่งห้อย เลยก็ว่าได้
ผลงานเรื่องนี้ได้รับคำชมสูงมาก ทั้งด้านงานภาพ การเล่าเรื่อง โปรดักชั่น อีกทั้งความที่เรื่องกลับมาเล่นตำนานญี่ปุ่นโบราณที่คนตะวันตกชื่นชอบอยู่แล้วก็ทำให้เรื่องนี้ได้เข้าชิงและกวาดรางวัลในระดับชาติและต่างประเทศจำนวนมากครับ
สำหรับนิยามของเรื่องนี้คือ เป็นผลงานที่ไปไกลเกินกว่าคำว่าอนิเมชั่น แต่กลายป็นผลงานศิลปะยอดเยี่ยมชิ้นหนึ่งไปแล้ว
Laputa: Castle in the Sky 1986
คะแนน 9/10
เข้าฉายใน Netflix วันที่ 31 ม.ค. 2020 (คลิกรับชมที่นี่)
หนึ่งในอนิเมะสุดคลาสสิก เรื่องราวการผจญภัยแบบไซไฟแฟนตาซีในโลกอนาคตที่ห่างไกล เกี่ยวกับ คู่เด็กหนุ่มและเด็กสาว พาสุและชีต้า ที่ได้มาพบกันโดยบังเอิญ ชีต้ายังมีคริสตัลวิเศษที่นำไปสู่ความลับบางอย่างที่ทำให้พวกโจรสลัดและกลุ่มอำนาจหมายปอง พาสุจึงตัดสินใจพาชีต้าออกเดินทางเพื่อค้นหาความลับที่คริสตัลจะนำทางไป
พล็อตเรื่องเป็นแนวผจญภัยแบบ Adventure ในโลกอนาคต ที่ค่อนข้างฮิตในยุคนั้น ซึ่งองค์ประกอบทั้งหมดในเรื่อง ลาพิวต้า ปราสาทลอยฟ้า จะพบได้เกือบทั้งหมดในผลงานของจิบลิทุกเรื่องหลังจากนั้น ไม่ว่าจะเป็น ตัวเอกชายหญิงที่เป็นเด็กหนุ่มสาว, เด็กหญิงมักจะมีความพิเศษบางอย่าง, เครื่องบิน, ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ เทคโนโลยี, ตัวร้ายที่ไม่ได้ร้ายไปหมด แต่เป็นสีเทา และมักแฝงคติสอนใจและการสะท้อนหรือกัดสังคมไปด้วย
ข้อเด่นอย่างหนึ่งของลาพิวต้าก็คือ นี่เป็นเรื่องแนวแฟนตาซีผจญภัยของ Ghibli ที่มี “ความสว่างและสะอาดมาก” คือเป็นเรื่องที่พ่อแม่สามารถพาลูกที่ยังเล็กมาดูได้โดยที่เรื่องราวไม่ได้นำเสนอให้ดูโหดร้ายรุนแรงหรือแฝงมุมดาร์กไว้เกินไป เพราะสำหรับเรื่องอื่นๆที่ฉากหน้าดูแล้วเด็กน่าจะดูได้ มันกลับแฝงความมืดหม่นบางอย่างอยู่ เช่น แม่มดน้อย Kiki ก็มีมุมดราม่าหดหู่อยู่ค่อนข้างมาก หรือเรื่องระดับสุดยอดอย่าง Spirited Away ก็อาจจะไม่เหมาะสำหรับเด็กเล็ก หรือเรื่อง นาอูซิก้า และ โทโทโร่ ก็อาจจะต้องให้เด็กมีอายุขึ้นมาอีกนิด เพราะงานภาพบางอย่างมีความน่าสยองอยู่พอสมควร แต่ลาพิวต้า ไม่มีอะไรแบบนั้น เด็กเล็กสามารถดูได้เลย
อีกทั้งในบรรดาผลงานทั้งหมดของสตูดิโอที่ได้ออกไปโกอินเตอร์หลังจากผลงานทั้งหมดถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปฉายในโลกตะวันตก ลาพิวต้ายังเป็นเรื่องที่ประสบความสำเร็จและได้รับคำวิจารณ์สูงมากอีกด้วย แม้ว่างานภาพจะค่อนข้างเก่า เป็นผลงานยุค 80 ซึ่งเป็นช่วงบุกเบิกของค่าย แต่นี่เป็นหนึ่งในผลงานที่เหมาะสำหรับคนที่สนใจอยากจะเริ่มดูอนิเมะของจิบลิ สามารถเริ่มต้นจากเรื่องนี้หรือนาอูซิก้าได้เลยครับ
Whisper of the Heart 1995
คะแนน 9/10
เข้าฉายใน Netflix วันที่ 1 เม.ย. 2020
เรื่องราวของ สาวน้อยวัยช่างฝัน ชิสึคุ ที่ชอบการอ่านหนังสือ นิยาย และใช้เวลาว่างไปกับการอ่านหนังสือในห้องสมุด กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตที่กำลังมองหาเป้าหมายและความฝันของตนเอง ซึ่งเธอก็ได้มาพบกับ เซย์จิ เด็กหนุ่มที่เป็นหลานชายเจ้าของร้านซ่อมไวโอลิน ผู้มีความฝันอยากจะเป็นช่างทำไวโอลินเหมือนกับคุณปู่ของตน
ทั้งสองได้มาพบกัน ต่างฝ่ายได้เล่าความฝันของตน และทำให้ทั้งสองได้สร้างแรงบันดาลใจของตนเองที่จะทำตามความฝัน รวมถึงความรักในวัยหนุ่มสาวที่ก่อตัวขึ้น
เรื่องนี้ถือว่าเป็นการพาอนิเมะของสตูดิโอนี้ให้เข้าสู่ยุคกลาง รวมถึงเป็นจุดพีคของแนวทางเรื่องแนวโรมานซ์วัยรุ่นในแบบ Coming of Age ซึ่งคนที่ชอบเรื่องแนวนี้สามารถหยิบมาดูซ้ำได้ การสร้างบรรยากาศของเมืองที่ผสมผสานระหว่างสไตล์ญี่ปุ่นและเมืองเวนิสในอิตาลีเข้าด้วยกัน ก็ทำได้ดีมาก
แต่ก็น่าเสียดายว่า ผลงานเรื่องนี้มีจุดที่ “ยังขาดอะไรบางอย่างอีกนิดเดียว” ไม่เช่นนั้นเรื่องนี้จะสามารถให้คะแนนที่สูงกว่านี้ได้เลยครับ อีกจุดที่น่าเสียดายคือ ตอนจบของเรื่องที่ห้วนไปนิด เรียกง่ายๆว่ามันน่าจะได้เวลา Airtime ช่วงท้ายมากกว่านี้อีกนิดหน่อย
สำหรับตอนจบ คนดูอาจจะสงสัยว่า ความสัมพันธ์ของคู่พระนางจะข้ามขั้นเร็วเกินไปหรือไม่ ตรงนี้เคยมีหลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า อาจจะเป็นการส่งสารจาก ฮายาโอะ มิยาซากิ ที่ต้องการส่งไปถึงคนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ในสมัยนั้นการผูกความสัมพันธ์และคำสัญญา แล้วจะลงมือทำกันตั้งแต่วัยรุ่น มันก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร
Howl’s Moving Castle 2004
คะแนน 9/10
เข้าฉายใน Netflix วันที่ 1 เม.ย. 2020
เรื่องราวของ โซฟี หญิงสาวที่ถูกคำสาปทำให้ต้องกลายเป็นหญิงชรา ได้มาพบกับ ฮาวส์ พ่อมดหนุ่มสุดหล่อเจ้าเสน่ห์ปากเสียจอมหยิ่งอีโก้ทะลัก ผู้ครองปราสาทลอยฟ้า
อนิเมะดัดแปลงจากวรรณกรรมเยาวชนในชื่อเดียวกัน ซึ่งก็สามารถหาอ่านฉบับแปลไทยได้ไม่ยากครับ สำหรับตัวอนิเมก็ได้ดัดแปลงให้มีความโรมานซ์ปนแอ็กชั่นมากขึ้นจากต้นฉบับและใส่ความเป็นญี่ปุ่นเข้าไปอยู่บ้าง แต่ก็ถือว่าเป็นผลงานที่ดัดแปลงจากนิยายตะวันตกเรื่องนี้ได้ดีมาก
จุดเด่นของเรื่องคือ การสร้างเคมีระหว่างคู่พระนางอย่าง โซฟีและฮาวส์ ที่ทำออกมาได้ลงตัว น่าติดตาม รวมถึงพัฒนาการของตัวละครโซฟีที่อายุของเธอจะเปลี่ยนแปลงไปตามความคิดอ่านของตัวเธอเองในเรื่อง อีกทั้งเรื่องก็ไม่ได้บอกว่า ตัวโซฟีตอนชราจะเป็นเรื่องแย่เสมอไป เพราะโซฟีในร่างหญิงชรา แม้จะเสียความล่องแคล่วของวัยสาว แต่ก็ได้สติปัญญาและความสุขุมของคนชราเข้ามาทดแทน
อันที่จริงแล้ว Howl เป็นผลงานที่ถูกคาดหวังค่อนข้างสูง เนื่องจากสร้างขึ้นหลังจากความสำเร็จของ Spirited Away แต่รอบนี้ฮายาโอะและทีมงานเลือกกลับไปสร้างผลงานจากวรรณกรรมตะวันตก ซึ่งอันที่จริงแล้วก็ใช่ว่าทำได้แย่ คือทำได้ดีมากด้วยซ้ำ แต่เพราะตอนที่ออกฉาย มันมีภาพความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของ Spirted Away เป็นมาตรฐาน ทำให้ Howl อาจจะทำให้คนดูผิดหวังอยู่บ้าง เพราะตัวเรื่องเองมีจุดที่ไม่สมบูรณ์อยู่พอสมควร
อีกอย่างคือ เรื่อง Howl เป็นหนังสือที่คนตะวันตกรู้จักอยู่แล้ว การนำมาดัดแปลงเป็นอนิเมะก็อดไม่ได้ที่จะมีข้อเปรียบเทียบและความคาดหวัง ไม่เหมือนออริจินอลแบบ Spirited Away แต่โดยสรุปแล้ว เรื่องนี้ก็ยังถือว่าเป็นอนิเมะชั้นเยี่ยมอีกเรื่องที่แนะนำให้ดูอยู่ดีครับ แล้วที่สำคัญคือ นี่เป็นผลงานที่กวาดรายได้มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของสตูดิโอ
Kiki Delivery Service 1989
คะแนน 8.5/10
เข้าฉายใน Netflix วันที่ 31 ม.ค. 2020 (คลิกรับชมที่นี่)
หนึ่งในผลงานประเภท Coming of Age ที่โดดเด่นและคลาสสิกที่สุดเรื่องหนึ่งของสตูดิโอ แล้วยังเป็นการสร้างคาแรคเตอร์ที่สำคัญอย่าง “แม่มดน้อย กิกิ” ที่ตราตรึงผู้ชมมาก ซึ่งแม้ว่าเรื่องนี้จะฉายมากแล้วกว่า 20 ปี แต่ตัวละครนี้ก็ยังเป็นที่จดจำอยู่ จนถึงขนาดนำไปสร้างเป็นละครเวที จนถึงรีเมคในรูปแบบ Live Action
เรื่องราวเกี่ยวกับ แม่มดน้อย กิกิ ที่ต้องเดินทางมาในเมืองแห่งหนึ่งเพื่อรับหน้าที่ในฐานะแม่มด นั่นคืองานส่งของ ด้วยการใช้ความสามารถด้านเวทมนต์ของเธอให้เป็นประโยชน์ในการขึ้นขี่ไม้กวาด แต่แล้วเธอก็พบว่าการได้มาใช้ชีวิตอยู่ในสังคมมนุษย์ ต่อให้มีพลังเวทมนต์ ก็ใช่ว่าจะแก้ปัญหาทุกอย่างได้เสมอไป อีกทั้งการที่ต้องใช้ชีวิตแบบนี้ ก็ทำให้วันหนึ่งเธออาจจะไม่สามารถใช้เวทนต์ได้อีก
เรื่อง กิกิ ค่อนข้างโดดเด่นในแง่ที่ว่า นี่เป็นการผนวกเอาจินตนาการให้เข้ากับโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งในภายหลังแนวทางเรื่องลักษณะนี้จะกลายเป็นเรื่องที่ ฮายาโอะ มิยาซากิ มีความถนัดและตกผลึกมากขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นจุดขายของสตูดิโอในยุคหลังด้วย หลังจากทำเรื่องในแนวนี้ไว้แล้วกับโทโทระ พอมาถึงกิกิ ทีมสร้างก็ยกระดับขึ้นไปอีกขั้น ด้วยการเล่นประเด็นที่มีความ Realistic มากขึ้น ทำให้กิกิ ไม่ได้เป็นเรื่องแนวแม่มดในสไตล์สดใสเหมือนที่ฉากหน้าของอนิเมะนำเสนอไปหมด แต่สุดท้ายแล้วเรื่องราวก็พาไปจบในจุดที่ Happy Ending และทิศทางที่ตัวละครควรเป็น
แล้วถ้าหากถามว่าเรื่องไหนของค่ายที่น่าจะเอาไปทำเป็นซีรีส์แบบหลายตอนหรือน่าจะมีภาคต่อได้ กิกิ ถือว่าอยู่ในข่ายนั้นเลยครับ เพราะนี่เป็นแนวที่ แม้เรื่องราวในอนิเมะจะจบ แต่ชีวิตตัวละครยังดำเนินต่อไป
Ponyo 2008
เข้าฉายใน Netflix วันที่ 1 เม.ย. 2020
ในบรรดาผลงานทั้ง 21 เรื่องของ Ghibli ถ้าถามว่าเรื่องไหนที่ Feel Good ที่สุด ผมตอบได้เลยว่า Ponyo อยู่ในกลุ่มต้นๆเลยครับ หรือจะบอกว่าให้ Feel Good เกือบที่สุดจากผลงานทั้งหมดเลยก็ว่าได้ ที่สำคัญคือ นี่เป็นเรื่องที่มีสองพระ-นาง ที่อายุน้อยที่สุดด้วย คือแค่ 5 ขวบเท่านั้น แต่โซสุเกะ พระเอกของเรื่องนี้ถือว่าเป็นเด็กที่ฉลาดและมีความคิดอ่าน ความรับผิดชอบสูงเกินวัยเลยทีเดียว
เนื้อเรื่องเล่าถึง โซสุเกะ เด็กน้อยอายุ 5 ขวบ ลูกชายของริสะ ทั้งสองแม่ลูกใช้ชีวิตอย่างสงบสุขในเมืองเล็กๆที่อยู่บนริมหน้าผาใกล้ทะเลแห่งหนึ่ง วันหนึ่งโซสุเกะเก็บปลาทองแสนสวยตัวหนึ่งที่มาติดกับดักได้ที่ชายหาด มีเธอว่า พอนเนี๊ยว แต่ที่จริงแล้วร่างจริงของปลาทองน้อยคือเจ้าหญิงของแดนใต้สมุทร ที่มีความอยากรู้อยากเห็นในเรื่องราวของโลกเบื้องบน ซึ่งเธอมีความปรารถนาที่จะกลายเป็นมนุษย์ แล้วก็ได้ตกหลุมรักกับเด็กน้อยโซสุเกะ
สำหรับตัวเรื่องนอกจากเหมาะสำหรับให้เด็กๆดูแล้ว เรื่องนี้ยังเหมาะสำหรับผู้ใหญ่เช่นกัน เรียกว่าดูกันได้ทั้งครอบครัว แล้วยังสามารถใช้เป็นคติสอนใจเด็กๆได้ดีหลายอย่างด้วย
อีกจุดที่โดดเด่นของเรื่องนี้ก็คือ งานภาพและงานเคลื่อนไหว โดยเฉพาะเทคนิคการใช้สีน้ำวาดฉากคลื่นบนทะเล ที่ทำได้ยอดเยี่ยมเกินคาดมาก เป็นการโชว์ให้เห็นว่า การใช้สีนำ้ในการสร้างอนิเมชั่นคุณภาพสูงสุดเท่าที่ศักยภาพของสีจะทำได้นั้น มันจะออกมาประมาณไหน
ในภาพรวมแล้วนี่เป็นผลงานการกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ของ ฮายาโอะ มิยาซากิ หลังจากลูกชายคือโกโร่สร้าง Tale from Earthsea แล้วไม่ค่อยได้รับคำวิจารณ์ที่ดีเท่าไร จนถึงขนาดเป็นผลงานที่แย่ที่สุดของสตูดิโอ ทำให้ ฮายาโอะที่ประกาศวางมือไปแล้ว ต้องกลับมาสร้างผลงานอีกครั้ง นี่จึงเป็นผลงานที่ค่อนข้างท้าทายความสามารถของมิยาซากิและทีมสร้างมาก ที่จะต้องกู้ชื่อของสตูดิโอกลับมา
แล้วผลก็คือ ฮายาโอะได้ทำ Ponyo ให้ออกมาเป็นหนึ่งในผลงานที่ช่วยฟื้นคืนชีพให้กับสตูดิโอในยุคหลังอย่างชนิดที่เรียกว่าเซอร์ไพร์สพอสมควร ทั้งด้านรายได้ที่ถล่มทลาย (รายได้สูงสุดเป็นอันดับสามของสตูดิโอ) และคำวิจารณ์ เมื่อมองจากเรื่อง เซตติ้ง พล็อตเรื่อง ที่ดูแล้วไม่ค่อยมีอะไรนัก แต่เรื่อง Ponyo กลับกลายเป็นผลงานที่ประสบความสำเร็จและเป็นกระแสมากในช่วงที่ออกฉาย แถมเพลงประกอบของเรื่องยังสร้างปรากฏการณ์กลายเป็นเพลงที่เด็กๆร้องกันได้มากที่สุดในปีนั้นด้วย
The Wind Rise 2013
คะแนน 8.5/10
เข้าฉายใน Netflix วันที่ 1 เม.ย. 2020
เป็นผลงานที่ถูกกล่าวขวัญกันมากก่อนจะเข้าฉายในสมัยนั้น เนื่องจากเป็นผลงานที่กล่าวกันว่า มีส่วนอ้างอิงจากประวัติชีวิตของตัว ฮายาโอะ มิยาซากิ ในระดับหนึ่งเลยครับ (ทั้งที่นี่ไม่ใช่หนังประวัติของตัวแก) แถมยังเป็นเรื่องที่ได้เข้าชิงรางวัลระดับโลกหลายสถาบันในตอนนั้น เป็นผลงานแนวดราม่าชีวิตที่เมื่อเวลาผ่านมาแล้วก็ยังได้คำรับคำยกย่องอยู่
เรื่องราวในอนิเมะ ดัดแปลงจากชีวประวัติของ จิโร่ โฮริโคชิ วิศวกรผู้ออกแบบเครื่องบินของญี่ปุ่น เช่น Zero ซึ่งต่อมาญี่ปุ่นได้นำมาใช้ในสงครามโลก ตัวเรื่องจึงมีความเรียลและชีวิตจริงๆสูงมาก โดยเรื่องจับเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่คันโตในปี 1923 มาใช้ด้วย ทำให้มีการนำเสนอภาพความโหดร้ายจากภัยพิบัติที่รุนแรงแล้วคร่าชีวิตผู้คนไปมหาศาล ในเรื่องยังสอดแทรกและสะท้อนสังคมญี่ปุ่นในยุคนั้น ไปจนถึงความแตกต่างด้านชนชั้น ความทะเยอทะยานของกองทัพและบริษัทเอกชนในญี่ปุ่นที่ต้องการสร้างเครื่องบินของตนเองให้สำเร็จ
นอกจากนี้ยังมีการสอดแทรกเรื่องราวความรักแบบ Bitter Sweet ระหว่างคู่พระ-นางเข้ามา เนื่องจากเป็นความรักในรูปแบบที่ทั้งสองฝ่ายรู้อยู่ว่าอีกฝ่ายอาจจะต้องจากไปด้วยอาการป่วยตั้งแต่แรก แต่พวกเขาก็ยังอยู่ด้วยกัน ซึ่งก็อิงมาจากชีวิตจริงระหว่างจิโร่และภรรยาด้วย
ในภาพรวมแล้วเป็นอนิเมชั่นชั้นเยี่ยม ที่สร้างมาชนิดว่าหวังคว้ารางวัลคว้ากล่องได้เลย แต่เมื่อดูแล้วอาจจะรู้สึกว่ามันมีความ Propganda ชาตินิยมญี่ปุ่นแฝงอยู่พอสมควร อีกทั้งหากดูดีๆแล้วก็เหมือนว่านี่เป็นอนิเมที่ฮายาโอะอาจจะอยากทำมานานแล้วก็ได้ อีกทั้งมันก็ไม่ใช่อนิเมชั่นที่สนุกหรือเหมาะสำหรับเด็กด้วยครับ แต่เหมาะสำหรับผู้ใหญ่มากกว่า
The Secret World of Arietty 2010
คะแนน 8/10
เข้าฉายใน Netflix วันที่ 1 มี.ค. 2020
ถือว่าเป็นเรื่องยุคหลังของค่าย ที่แม้ว่าเนื้อเรื่องและการเล่าเรื่องอาจจะไม่ได้โดดเด่น แต่มีการสร้างบรรยากาศและธีมของเรื่องราวที่ได้อารมณ์ของนิทานพื้นบ้านก่อนนอนของตะวันตกในสมัยศตวรรษที่ 18-19 ซึ่งเป็นบรรยากาศที่ห่างหายไปนานมากสำหรับสตูดิโอ ตัวเรื่องดัดแปลงจากต้นฉบับ Arietty ซึ่งเป็นหนึ่งในนิทานก่อนนอนที่อาจจะไม่ดังมากสำหรับคนเอเชีย แต่ก็เป็นหนึ่งในผลงานคลาสสิกสำหรับโลกตะวันตก
เนื้อเรื่องเล่าถึง เด็กชายคนหนึ่งที่มีสุขภาพอ่อนแอ ได้เข้ามาอาศัยในบ้านหลังหนึ่ง ซึ่งเขาได้ค้นพบว่าแท้จริงแล้วในบ้านนี้มีครอบครัวมนุษย์ตัวจิ๋วอาศัยอยู่ด้วย
สำหรับจุดเด่นของผลงานชุดนี้คือ มีเพลงประกอบที่สุดยอดโดดเด่นมาก ชนิดที่ว่าหากใครได้ชมเรื่องนี้ จะติดหูกับเพลงประกอบที่ชวนขลังและให้ฟีลลิ่งเหงาเปล่าเปลี่ยวจากเรื่องนี้ไปเลยครับ
โดยปกติแล้วผลงานของจิบลิตั้งแต่กลางยุค 90 เป็นต้นมา เรื่องที่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างคู่พระเอก-นางเอก เป็นเส้นเรื่องหลัก มักจะจบลงที่ให้ตัวเอกไม่ได้คู่กันในตอนจบ เนื่องจากตัวละครทั้งสองฝั่งมักจะมาจากโลกที่แตกต่างกันมาก เพียงแต่โชคชะตาและเส้นทางชีวิตทำให้ได้มาพบกันในช่วงเวลาสั้นๆ ซึ่งเรื่องนี้ก็เข้าข่ายนั้นครับ เพียงแต่เรื่องนี้ในเส้นเรื่องฝั่งนางเอก จะมีตัวละครอื่นที่จะได้มาคู่กับนางเอกแทน ตัวพระเอกของเรื่อง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องแรกและเรื่องเดียวของจิบลิเลยก็ว่าได้
ถึงแม้ว่าในภาพรวมแล้ว นี่จะเป็นผลงานระดับกลางๆค่อนบวก แต่ในด้านโปรดักชั่นถือว่าจัดเต็มมาก เป็นหนึ่งในเรื่องที่น่าดูสำหรับจิบลิในยุคหลัง ที่สำคัญคือหากเปรียบเทียบกับอนิเมะทั่วไปแล้ว เรื่องนี้ก็ยังจัดว่าอยู่ในระดับคุณภาพอยู่ดีครับ
From Up on Poppy Hills 2011
คะแนน 8/10
เข้าฉายใน Netflix วันที่ 1 เม.ย. 2020
คำแนะนำคือ ถ้าใครชอบผลงานในกลางยุค 90 ของ Ghibli อย่างเรื่อง Whisper of the Heart ที่บอกเล่าเรื่องความรักของคู่ชายหญิงวัยรุ่นในวัยเรียนช่วงมัธยม รวมถึงการค้นหาความฝัน หรือมีเป้าหมายอะไรบางอย่าง รับรองได้ว่าคุณจะชอบเรื่องนี้ครับ เพราะถือว่าเป็นการนำความสำเร็จของ Whisper of the Heart มาต่อยอด แล้วกลั่นออกมาเป็นเรื่องราวที่ได้รสชาติใหม่กว่าเดิม
เรื่องราวเล่าในสมัยที่ญี่ปุ่นกำลังฟื้นฟูตัวเองจากสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยปีในเรื่องจะตรงกับโอลิมปิกในปี 1964 ซึ่งญี่ปุ่นกำลังฟื้นฟูความภาคภูมิใจและจิตสำนึกในชาติให้กลับมาใหม่
อุมิ เด็กหญิงผู้อาศัยอยู่กับป้า น้องสาว และเหล่าเด็กผู้หญิง ได้พบกับเด็กหนุ่ม ชุน ผู้ที่กระตือรือร้นในการรวมกลุ่มนักเรียนเพื่อประท้วงการทุบตึกชมรมของโรงเรียน แต่ปรากฏว่าเรื่องราวของเด็กหนุ่มสาวทั้งสองกลับมีความเกี่ยวโยงอะไรที่ลึกซึ้งมากกว่านั้น
เรื่องนี้เป็นการกลับมาแก้ตัวได้อย่างยอดเยี่ยมของ โกโร่ มิยาซากิ ในฐานะผู้กำกับ หลังจากถูกวิจารณ์อย่างหนักมาจากเรื่อง Tales from Earthsea โดยมีฮายาโอะดูแลในส่วน Screen Play พล็อตเรื่องไม่ได้มีอะไรหวือหวา เป็นเรื่องราวแนวโรมานซ์ของสองหนุ่มสาววัยรุ่น ที่มีพื้นหลังเป็นญี่ปุ่นยุค 60 การนำเสนอสังคมในรูปแบบที่ผู้คนมีจิตสำนึกร่วมสูง การลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างที่ดูเหมือนเป็นเรื่องไร้สาระหรือเรื่องเล็กๆในสายตาผู้ใหญ่ แต่มันคือก้าวกระโดดสำคัญของวัยรุ่น
พล็อตเรื่องยังผสมผสานแนวโรมานซ์แบบละครดราม่าน้ำเน่าเข้ามาด้วย ใครชอบพล็อตแนวละครดราม่าหลังข่าวก็น่าจะชอบเรื่องนี้ไม่ยาก เพลงประกอบไพเราะ บทสรุปของเรื่องอาจจะเล่นง่ายไปหน่อย แต่ก็ชวนให้ลุ้นได้ดี
(โดยส่วนตัวผู้เขียนบทความยอมรับว่านี่ไม่ใช่เรื่องที่ดีที่สุดติดอันดับต้นๆของ Ghibli แต่มันกลับมีเสน่ห์แปลกๆที่ทำให้นี่เป็นผลงานที่ผู้เขียนหยิบกลับมาดูซ้ำบ่อยที่สุดเป็นอันดับสี่ รองจาก Spirited Away, Princess Mononoke, Whisper of the Heart)
When Marnie was there 2014
คะแนน 8/10
เข้าฉายใน Netflix วันที่ 1 เม.ย. 2020
ผลงานเรื่องล่าสุดของจิบลิสตูดิโอ โดยได้ ฮิโรมาสะ โยเนบายาชิ ที่เคยร่วมงานในอนิเมหลายเรื่องของทางค่ายมาก่อน แม้ว่าในด้านคำวิจารณ์จะได้รับคำชมพอสมควร แต่ด้านรายได้กลับไม่ประสบความสำเร็จ เป็นเรื่องที่ทำรายได้น้อยติดอันดับต้นๆของสตูดิโอ ทำให้ทางค่ายต้องประชุมกันครั้งใหญ่ก่อนที่จะประกาศยุติการสร้างผลงานชั่วคราวแบบไม่มีกำหนด สร้างความเสียใจให้แฟนทั่วโลก ซึ่งก็ได้แต่หวังว่าบรรดาทีมงานจะหาแนวทางใหม่แล้วกลับมาสร้างสรรค์ผลงานอีกครั้ง
เรื่องราวเกี่ยวกับ อันนะ เด็กผู้หญิงที่ถูกส่งมาอยู่ในชนบทเพื่อฟื้นฟูสุขภาพ โดยได้มาอยู่ในปราสาทในสไตล์ยุโรปแห่งหนึ่ง ซึ่งเธอได้พบกับ มาร์นีย์ เด็กหญิงผมบลอนด์ปริศนา แล้วมิตรภาพของพวกเธอก็ได้ก่อตัวขึ้น ท่ามกลางปริศนาว่า แท้จริงแล้วมาร์นีย์คือใครกันแน่
สำหรับเรื่องนี้เป็นการกลับมาหยิบเอาวรรณกรรมเยาวชนชื่อดังจากโลกตะวันตกมาดัดแปลง ซึ่งเป็นแนวทางที่ค่ายถนัดและทำมานาน เพียงแต่ที่ค่อนข้างฉีกแนวคือ นี่เป็นผลงานเรื่องแรกที่นำเสนอความสัมพันธ์ของตัวละครเอกทั้งคู่เป็นผู้หญิง และในแง่มุมของมิตรภาพระหว่างผู้หญิง ซึ่งก็ถือว่าเป็นแนวที่มาตามกระแสในช่วงนั้นด้วย หลายคนอาจจะรู้สึกว่านี่เป็นเรื่องแนว Yuri แต่ถ้าดูไปเรื่อยๆจะพบว่าไม่ใช่ครับ แม้ว่าระหว่างทางอาจจะมีฟีลลิ่งแบบนั้นอยู่บ้างก็ตาม อีกทั้งปริศนาที่ว่ามาร์นี่ย์คือใคร ไม่ว่าจะเป็นวิญญาณ หรือเป็นแค่จินตนาการของอันนะ ก็เป็นปมปริศนาที่ในเรื่องไม่ได้เฉลยออกมาโดยตรง แต่หากได้ดูจนจบก็น่าจะเข้าใจได้ตามที่เรื่องต้องการสื่อครับ
ซึ่งน่าเสียดายว่า ถึงแม้เรื่องนี้ได้รับคำชมและคำวิจารณ์ในแง่บวกมากกว่าลบ แต่ด้วยอะไรบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องการตลาด การโปรโมท ที่อาจจะทำให้หน้าหนังดูจงใจขายความ Yuri และมิตรภาพของผู้หญิงมากเกินไปหน่อย ก็น่าจะมีส่วนทำให้แทนที่จะเรียกคนดูกลุ่มใหญ่ หรือเด็กๆเข้ามา ก็กลายเป็นว่าเสียคนดูกลุ่มใหญ่ของตนไปเลยก็เป็นได้
Only Yesterday 1991
คะแนน 7.5/10
เข้าฉายใน Netflix วันที่ 31 ม.ค. 2020 (คลิกรับชมที่นี่)
ผลงานแนว Nostalgia ชวนให้ระลึกถึงวัยเยาว์ ที่กำกับโดย อิซาโอะ ทาคาฮาตะ ว่าด้วยเรื่องราวการกลับไปบ้านเกิดในชนบทของหญิงสาวที่ทำงานเป็นพนักงานออฟฟิสในโตเกียว เมื่อได้กลับไปบ้านเกิด ความทรงจำในช่วงวัยเด็กกับชีวิตในชนบทของเธอก็หวนกลับมาอีกครั้ง
ผลงานเรื่องนี้อาจจะไม่ค่อยอินสำหรับเด็ก เนื่องจากผู้ชมต้องเป็นผู้ใหญ่ที่ผ่านวัยเด็กและเข้าสู่วัยทำงานมาแล้ว น่าจะเข้าถึงสิ่งที่เรื่องนี้ต้องการสื่อสารอย่างมาก เรื่องนี้ยังเป็นผลงานแนวโรมานซ์ในวัยผู้ใหญ่เรื่องแรกของสตูดิโอด้วย ซึ่งก็ถือว่าทำได้ดีในระดับหนึ่งเลยครับ
ที่สำคัญคือ เรื่องนี้ถือว่าเป็นการแตกไลน์ครั้งสำคัญของสตูดิโอ ที่ทดลองมาจับกลุ่มผู้ชมวัยรุ่นและวัยทำงานดูบ้าง หลังจากก่อนหน้านี้ทางค่ายจับตลาดเด็กเล็กและเด็กโตสำเร็จมาก่อนหน้านี้แล้ว อีกทั้งนี่ยังเป็นผลงานชิ้นแรกที่ “ลองไม่สนใจปัญหาสังคมระดับใหญ่ แต่มาจับที่ชีวิตปักเจกชนในสังคมปัจจุบันดูบ้าง” และถ้าไม่นับสุสานหิ่งห้อย นี่เป็นงานเรื่องแรกของค่ายที่ไม่ใช่แนวแฟนตาซีด้วย ถือว่าเป็นการแตกไลน์ครั้งสำคัญครับแม้ว่าจะยังไม่ได้ประสบความสำเร็จมากนักในช่วงที่ออกฉาย แต่การแตกไลน์ครั้งนี้ ทำให้นำไปสู่ผลงานสายโรมานซ์ของค่ายมากขึ้น แล้วก็ไปถึงจุดพีคได้ใน Whisper of the Heart ในอีกไม่กี่ปีต่อมา
Porco Rosso 1992
คะแนน 7.5/10
เข้าฉายใน Netflix วันที่ 31 ม.ค. 2020 (คลิกรับชมที่นี่)
เรื่องราวของเจ้าหมูนักบิน ซึ่งด้วยฉากหน้าแบบนี้ อาจจะทำให้หลายคนรู้สึกไม่อยากดู เพราะเห็นว่าตัวเอกดูไม่เท่เอาเลย แต่ที่จริงแล้ว หมู เป็นตัวละครที่อยู่ในผลงานของจิบลิและมิยาซากิ ชอบนำมาใช้พอสมควร ที่สำคัญคือฉากแอ็กชั่นทำออกมาได้ดีมากครับ
สำหรับเรื่องนี้ ถือว่าเป็นผลงานในกลุ่มสนุกเกินคาดของค่ายครับ และเป็นผลงานที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนผ่านอีกเรื่องก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงกลางยุค 90 ที่ลายเส้นและแนวเรื่องเริ่มจะปรับเปลี่ยนอีกรอบ
Pom poko 1994
คะแนน 7.5/10
เข้าฉายใน Netflix วันที่ 1 เม.ย. 2020
หนึ่งในผลงานกำกับที่โดดเด่นของอิซาโอะ ว่าด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับเหล่าทานูกิที่แปลงกายเป็นมนุษย์ เป็นเรื่องที่ค่อนข้างแฝงปรัชญาและสะท้อนสังคมญี่ปุ่นเอาไว้พอสมควร แล้วยังสะท้อนเรื่องของเหล่าทานูกิที่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคมยุคใหม่ เรื่องนี้ยังเหมือนเป็นการแฝงไว้ถึงการเปลี่ยนผ่านของอะไรบางอย่างในจิบลิไปในตัวด้วยครับ เพราะนี่ยังเป็นผลงานของจิบลิเรื่องแรกที่ใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกเข้ามาช่วยในการสร้างงาน หลังจากใช้การวาดมือมาตลอด
อาจจะกล่าวได้ว่า Pom Poko คือผลงานที่สตูดิโอและตัวฮายาโอะ มิยาซากิ “ได้ยอมรับที่จะต้องเปลี่ยนแปลง” เป็นครั้งแรก แม้ว่าอาจจะไม่ได้ถึงขั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดก็ตาม แต่ก็ถือว่าเป็นการยอมรับการนำเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์กราฟฟิกเข้ามาช่วยเพิ่มในการสร้างผลงานเพิ่มขึ้น
Ocean Wave 1993
คะแนน 7/10
เข้าฉายใน Netflix วันที่ 31 ม.ค. 2020 (คลิกรับชมที่นี่)
อีกผลงานกำกับของอิซาโอะ ว่าด้วยเรื่องราวของเด็กหนุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยที่กลับมาบ้าน เป็นเรื่องราวแนวโหยหาอดีต และปนโรมานซ์สไตล์โหยหา เป็นผลงานกำกับของ โทโมมิ โยชิสึกิ ผู้ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นผลงานที่อาจจะอยากซ้ำรอยความสำเร็จจาก Only Yesterday แต่ปรากฏว่าตัวเรื่องกลับไม่ได้รับคำวิจารณ์ที่ดีเท่าไรนักในตอนฉาย เรียกว่าเป็นผลงานระดับกลางๆของค่ายที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม Recommended เท่าไรนัก
ถึงอย่างนั้น หากจะหาอนิเมะแนวนี้สักเรื่อง ก็ถือว่านี่เป็นอีกเรื่องที่สามารถดูได้เพลินๆครับ ซึ่งเรื่องนี้อยู่ในข่ายของเรื่องที่หากใครชอบก็ชอบไปเลยเหมือนกัน แล้วเป็นอีกหนึ่งในเรื่องของสตูดิโอที่ถูดจัดให้อยู่ในกลุ่มที่โดน Underrated พอสมควร
My Neighbors the Yamadas 1999
คะแนน 7/10
เข้าฉายใน Netflix วันที่ 1 มี.ค. 2020
นี่เป็นผลงานที่ดัดแปลงจากมังงะแนวสี่ช่องเรื่องดังในญี่ปุ่นในชื่อเดียวกัน ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของครอบครัว ยามาดะ ที่ในแต่ละวันเต็มไปด้วยความวุ่นวาย และสะท้อนภาพของครอบครัวคนญี่ปุ่นในยุค 80-90 ได้อย่างดีมาก เป็นเรื่องแนวเบาๆของจิบลิ ที่กำกับโดย อิซาโอะ ทาคาฮาตะ
สำหรับเรื่องนี้เป็นแนวเฮฮา ขำขัน อบอุ่น ที่ดูได้สบายๆ มีมุกตลกที่อาจจะเฉพาะตัวที่เน้นสะท้อนครอบครัวญี่ปุ่นสมัยนั้นอยู่บ้าง แต่ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในผลงานที่ดูได้สนุกครับ เพราะหน้าฉากของเรื่องก็เป็นแนวตลกครอบครัวอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่ต้องคาดหวังโครงเรื่องที่ยิ่งใหญ่หรือสะท้อนสังคมอะไรมากนักแบบที่หลายเรื่องของสตูดิโอได้สร้างมาตรฐานไว้
The Cat Returns 2002
คะแนน 7/10
เข้าฉายใน Netflix วันที่ 1 มี.ค. 2020
อนิเมะขนาดสั้น ที่เป็น Spin-Off แตกออกมาจาก Whipper of the Heart ที่ได้นำตัวละคร ท่านเคาน์แมว ที่เคยมีบทบาทในเรื่องนั้นแล้วได้รับความนิยมสูงเกินคาดให้ออกมาเป็นหนังเดี่ยวของตัวเองได้ โดยเรื่องนี้เป็นผลงานกำกับของ ฮิโรยูกิ โมริตะ
เนื่องจากเป็นผลงานที่มีความยาวแค่ 1.15 นาที ทำให้เรื่องราวต้องถูกอัดให้กระชับ ในเวลาจำกัด พล็อตเรื่องก็นำแนวทางแบบ Alice in Wonderland มาใช้ เมื่อเด็กสาวคนหนึ่งหลุดเข้าไปในโลกนิทาน ต้องเผชิญกับอันตราย แล้วก็ได้ ท่านเคาน์แมว เข้ามาช่วยไว้
ภาพรวมแล้ว เป็นผลงานแนวทดลองรูปแบบใหม่ของทางค่าย โดยเฉพาะการยกระดับเรื่องลายเส้นให้ทันสมัยและจับวัยรุ่นมากขึ้น รวมถึงรูปแบบการเล่าเรื่องที่กระชับฉับไวมากกว่างานก่อนๆ แต่ก็ยังไม่ลงตัวนัก แล้วถึงแม้ว่าจะให้คะแนนไม่เยอะ แต่ถือว่าเป็นเรื่องที่สามารถดูได้เพลินๆเลยครับ
Tales from Earthsea 2006
คะแนน 6.5/10
เข้าฉายใน Netflix วันที่ 31 ม.ค. 2020 (คลิกรับชมที่นี่)
เป็นผลงานเรื่องแรกหลังจาก ฮายาโอะ มิยาซากิ ประกาศวางมือครั้งแรกเมื่อปี 2005 ซึ่งหลังจากนั้นผลงานของสตูดิโอเรื่องถัดมาก็ได้ผู้กำกับคนใหม่เป็น โกโร่ มิยาซากิ ซึ่งเป็นลูกชายของฮายาโอะ โดยเรื่องแรกที่เข้ามาทำก็คือ Tales from Earthsea ซึ่งต้นฉบับอ้างอิงจากนิยายในชื่อเดียวกันที่เป็นผลงานของ Ursula K.Le Guin นักเขียนหญิงชาวอเมริกัน
เมื่อดัดแปลงเป็นอนิเมะแล้ว ตอนแรกก็ถูกคาดหวังไว้มาก แถมยังเป็นผลงานที่ถูกมองว่าจะพา Ghibli Studio เข้าสู่ยุคใหม่ แต่กลายไม่ได้เป็นตามนั้น แม้ว่าในแง่รายได้จะถือว่าน่าพอใจก็ตาม แต่ผลงานของจิบลิอยู่ได้ด้วยคุณภาพ ทำให้ในเรื่องถัดมา ตัวของฮายาโอะต้องกลับมากำกับเองจากเรื่อง Ponyo
ในภาพรวมแล้ว แม้ว่าเรื่องนี้หลายฝ่ายจะเห็นว่าเป็นผลงานที่แย่ที่สุดของสตูดิโอก็ตาม แต่ก็ยังถือว่าเป็นผลงานที่มีคุณภาพและมีค่าควรที่จะได้ดูครับ ที่สำคัญคือ มันก็ยังสนุกและมีคุณภาพเหนือกว่าอนิเมชั่นทั่วไปของค่ายอื่นๆอีกหลายเรื่องด้วย
จากบรรดาผลงานของ Ghibli ทั้งหมด 21 เรื่องที่เข้าสู่ Netflix โดยสรุปแล้ว ถ้าเป็นผลงานของสตูดิโอนี้ คุณสามารถรับชมได้ทุกเรื่อง พร้อมกับคาดหวังความสนุกและความบันเทิงได้เลย ขึ้นอยู่กับว่าคุณอยากดูเรื่องแนวไหน เพราะมีแทบทุกสไตล์ให้คุณรับชม แม้ว่าหลายเรื่องจะมีรสชาติที่คล้ายกันอยู่บ้าง ทั้งในแง่ลายเส้น และสไตล์เรื่อง แต่การันตีได้เลยว่า ทั้งหมดคือผลงานที่ ผู้ใหญ่ดูได้ เด็กดูดี และทั้งหมดกำลังทยอยเข้าฉายใน Netflix สามารถรอรับชมได้ครับ
ติดตามบทความทั้งหมดของผู้เขียนคลิกที่นี่
Reference Website
https://www.nytimes.com/2017/10/12/movies/ranking-studio-ghibli-movies.html