รีวิว Carole and Tuesday ss1-2 อนิเมะเพลงชั้นเยี่ยมแนว Feel Good ใน Netflix
carole and tuesday
สรุป
Carole and Tuesday รีวิว ss1-2 อนิเมะสายเพลงสไตล์ Feel Good ใน Netflix เนื้อหาสะท้อนวงการดนตรี การร้องเพลงข้างถนน ดราม่าชีวิตศิลปิน ผสมไซไฟการเมืองโลกอนาคต มีเพลงเพราะตลอดทั้งเรื่อง แถมหลายสไตล์ แค่ฟังเพลงในเรื่องก็อิ่มแล้ว
Overall
8.5/10User Review
( votes)Pros
- มีฉากร้องเพลงที่เป็นไฮไลท์ทุกตอน แถมเพลงเพราะทั้งเรื่อง แค่ฟังเพลงก็คุ้มแล้ว
- เพลงหลายสไตล์มาก แทบจะทุกแนว
- เรื่องเล่าแบบ Feel Good ไม่ค่อยมีดราม่าน่ารำคาญ
- จำลองการประกวด The Voice ในพาร์ทแรกได้น่าสนใจดี
Cons
- ตัวละครเอกดูจะผ่านอุปสรรคต่างๆได้ง่ายไปนิด
- ปมบางอย่างปูมาเหมือนจะสำคัญ แต่ตอนเคลียร์ปมไม่ได้เน้นเท่าไหร่
Carole and Tuesday รีวิว ss1-2 อนิเมะสายเพลงสไตล์ Feel Good ใน Netflix เนื้อหาสะท้อนวงการดนตรี การร้องเพลงข้างถนน ดราม่าชีวิตศิลปิน ผสมไซไฟการเมืองโลกอนาคต
Carole and Tuesday อนิเมะเรื่องนี้ เป็นผลงานออริจินอลโดยค่าย Bones หนึ่งในสตูดิโอชื่อดังที่เชี่ยวชาญเรื่องการทำอนิเมะแนวไซไฟ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีผลงานออริจินอลชื่อดังอย่าง Eureka 7 มาแล้ว
สำหรับเรื่องนี้ก็ได้มีการทำเป็น Original Netflix ซึ่งสามารถรับชมได้แล้วทั้ง 2 ซีซันจบครับ
Carole and Tuesday เรื่องย่อ
ในโลกอนาคต ยุคสมัยที่มนุษย์ส่วนหนึ่งได้อพยพออกไปอาศัยอยู่บนดาวอังคาร และมนุษย์พัฒนาระบบ เอไอ A.I. ขึ้นมาช่วยอำนวยความสะดวกได้เกือบทุกอย่าง แม้แต่วงการดนตรี ก็กลายเป็นยุคสมัยที่เอไอสร้างเสียงร้องเพลงประดิษฐ์ขึ้นมาได้ รวมถึงสามารถใช้เอไอแต่งเพลงได้ด้วย
แต่ก็ยังมีนักดนตรีและนักร้องบางกลุ่มที่ไม่ได้ใช้เอไอในการร้องเพลงหรือแต่งเพลง เมื่อสาวน้อยวัยใสสองคนที่มีปูมหลังและฐานะทางสังคมที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วคือ แครอล และ ทิวส์เดย์ กลับได้มาพบกันโดยบังเอิญ ทั้งสองถูกชะตากันแล้วก็ได้มาเริ่มตั้งวงดูโอเพื่อไล่ตามความฝันที่จะเป็นนักร้องอาชีพแล้วขึ้นแสดงบนเวทีใหญ่ให้ผู้คนได้ฟัง โดยทั้งสองเริ่มต้นจากการร้องเพลงข้างถนน และต่อมาก็แอบเข้าไปร้องเพลงและเล่นดนตรีกันในห้องแสดงคอนเสิร์ต ซึ่งการเล่นดนตรีแค่สั้นๆไม่กี่นาทีของทั้งสองคนกลับถูกถ่ายคลิปไว้แล้วเผยแพร่ออกไปบนโซเชียลมีเดีย ทำให้ทั้งสองเริ่มดังจนเป็นกระแสบนโซเชียลชนิดข้ามคืน
นี่จึงกลายเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตสองสาวน้อยเสียงใสทั้งสองคน ซึ่งต่อมาพวกเธอก็ได้เข้าสู่โลกของวงการเพลง การเข้าร่วมประกวดแข่งขัน และโลกของอุตสาหกรรมดนตรีที่มีทั้งด้านสว่างและด้านมืด ไปจนถึงต้องเข้าไปเกี่ยวโยงกับเหตุการณ์ทางการเมืองของดาวอังคาร แล้วในที่สุดการแสดงสดของทั้งสองสาวก็ได้ทำให้เกิดตำนานที่เรียกว่า “ปาฏิหาริย์ 7 นาที”
แล้วปาฏิหาริย์ที่ว่านี้มันคืออะไร ทำไมสาวน้อยเสียงใสแค่สองคนถึงทำให้มันเกิดขึ้นได้ ต้องมาติดตามใน Carole and Tuesday ทั้งสองซีซันใน Netflix ครับ
Carole and Tuesday ตัวละคร
แครอล สแตนลีย์ (Carole Stanley) สาวน้อยผิวสี เด็กกำพร้าที่เกิดบนโลกแต่ถูกทิ้งไว้ในโบสถ์ตั้งแต่ทารกแล้วก็มาเติบโตในค่ายผู้อพยพของดาวอังคาร เติบโตมาโดยใช้ชีวิตเพียงลำพัง อาศัยการทำงานพิเศษหารายได้และร้องเพลงตามข้างถนน มีฝีมือในการเล่นคีย์บอร์ด ต่อมาด้วยโชคชะตาทำให้เธอได้พบกับทิวส์เดย์โดยบังเอิญ หลังจากทิวส์เดย์ถูกโจรขโมยของ ทำให้เธอมาขออาศัยอยู่กับแครอลในห้องเช่า แล้วทั้งสองคนก็เริ่มต้นจับคู่ดูโอร้องเพลงกันตั้งแต่นั้น โดยสไตล์เพลงของแครอลจะเป็นแนว R&B, Jazz, Folk
บุคลิกนิสัยของแครอล เป็นคนมองโลกในแง่ดี ง่ายๆ แม้ว่าจะเป็นเด็กกำพร้าที่เติบโตจากข้างถนนและมีชีวิตที่ยากลำบากแต่ก็ยังยิ้มสู้และมีความสุขกับการร้องเพลงที่ตัวเองแต่ง แครอลมักเป็นห่วงทิวส์เดย์ที่มีความกังวลเรื่องครอบครัวที่มุ่งชนะเลือกตั้งในการเมืองของดาวอังคาร
ทิวส์เดย์ ซิมมอนส์ (Tuesday Simmons) สาวน้อยลูกคุณหนู ทายาทนักการเมืองดังของดาวอังคาร เป็นสาวน้อยใสซื่อ ชื่นชอบการร้องเพลง และเล่นกีตาร์ มีความสามารถในการแต่งเพลงด้วย เธอเติบโตมาโดยอยู่ในกรอบของครอบครัว จึงต้องการใช้ชีวิตอย่างอิสระแล้วก็ตัดสินใจแอบหนีออกจากบ้านแล้วเข้าเมืองมา จากนั้นก็ได้พบกับแครอลโดยบังเอิญ เธอประทับใจเสียงร้องและการเล่นคีย์บอร์ดของแครอล จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นจับคู่ตั้งวงดูโอแล้วอาศัยอยู่ด้วยกันตั้งแต่นั้น กีตาร์ที่ทิวส์เดย์ใช้ประจำตัวคือ Gibson Acoustic
บุคลิกนิสัยของทิวส์เดย์ เป็นสาวน้อยชวนฝันอ่อนต่อโลก แทบจะไม่รู้วิธีการใช้ชีวิตทั่วไป แล้วยังประหม่าในการเข้าหาผู้คน แต่ด้านความชอบด้านดนตรีและการร้องเพลงไม่ได้แพ้แครอลเลย ด้วยเรื่องสถานการณ์ของครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับการเมืองของดาวอังคารทำให้ทิวส์เดย์มีความกังวลไม่น้อย
แองเจล่า คาร์เพนเตอร์ สาวน้อยนางแบบผิวสีชื่อดัง ผู้มีความทะเยอทะยานที่จะประสบความสำเร็จในวงการดนตรีด้วย เธอกับแม่ ได้ร่วมมือกันหาทางที่จะสร้างชื่อเสียงในวงการให้ได้ โดยบุคลิกแล้วเป็นสาวน้อยสุดมั่น มีความเชื่อมั่นในตัวเอง แต่ก็มีพรสวรรค์และความสามารถในการร้องเพลงชนิดเกินความคาดหมาย แม่ของเธอแนะนำให้ร่วมมือกับทาโอะ อัจฉริยะด้านเอไอเพื่อช่วยแต่งเพลงและวางแผนที่จะดันให้เธอชนะการประกวดแข่งขันรายการใหญ่ ซึ่งก็ได้โคจรมาพบกับสองสาว แครอลและทิวส์เดย์ ซึ่งแองเจล่าก็มองทั้งสองเป็นคู่แข่งที่คู่ควรจะแข่งขันด้วย แม้ว่าภายนอกแองเจล่าจะเป็นคนพูดจาขวานผ่าซาก แต่ที่จริงแล้วเป็นคนชอบการแข่งขันแบบยุติธรรม ต่อมาเธอยังมีกังวลเรื่องที่ถูกสตอคเกอร์ตามติดชีวิตส่วนตัว แล้วก็ไม่รู้ว่าถูกใครตามอยู่
บุคลิกนิสัยของแองเจล่า เบื้องหน้าดูเหมือนเป็นคนทะเยอทะยาน แต่เป็นคนที่แฟร์และชอบการแข่งขันอย่างยุติธรรมมาก แท้จริงแล้วเธอถูกกดดันจากแม่ของเธอเพื่อให้ทำตามความฝัน แองเจล่ายังมีความเกี่ยวโยงกับทาโอะอย่างคาดไม่ถึง ซึ่งเรื่องจะเปิดเผยในตอนท้าย
กัส โกลด์แมน ชายวัยกลางคนร่างใหญ่ เป็นอดีตโปรดิวเซอร์ที่เคยปั้นนักร้องชื่อดังมาก่อน ภายหลังหมดไฟแล้วใช้ชีวิตอยู่กับการเข้าผับดื่มเบียร์ แต่หลังจากได้ฟังคลิปของแครอลและทิวส์เดย์ ก็ทำให้เขาอาสาไปเป็นโปรดิวเซอร์ให้ทั้งสองสาว โดยภายนอกแล้วกัสดูพึ่งพาไม่ค่อยได้ และวิธีการหลายอย่างก็ดูจะคว้าน้ำเหลว แต่เขาก็มีความหวังดีให้สองสาวมาก ด้วยประสบการณ์ในวงการดนตรีทำให้เขารู้จักผู้คนมาก และคิดกลยุทธ์นอกกรอบมากมายเพื่อดันสองสาวให้แจ้งเกิด แล้วเขายังเข้าใจธรรมชาติของอุตสาหกรรมดนตรีเป็นอย่างดีด้วย
ทาโอะ อัจฉริยะหนุ่มด้าน A.I. ปัญญาประดิษฐ์ เป็นชายหนุ่มลึกลับเข้าใจยากและพูดจาขวานผ่าซาก เขามีความเชื่อว่าเอไอสามารถสร้างสรรค์ผลงานดนตรีและจำลองเสียงเพลงของมนุษย์ออกมาได้ในระดับสมบูรณ์ไร้ที่ติ เขาถูกดาเลียแม่ของแองเจล่าจ้างให้ช่วยผลักดันแองเจล่าให้แจ้งเกิดในวงการ เขายังเป็นคนวางแผนให้เธอเข้าร่วมแข่งขันประกวดร้องเพลงเพื่อสร้างกระแสด้วย ภายหลังทาโอะได้ฟังเพลงของแครอลและทิวส์เดย์ ก็รู้สึกประทับใจในความสามารถด้านการแต่งเพลงของสองสาวน้อยที่ไม่ได้ใช้เอไอเข้าช่วย นอกจากกนี้เขายังเล็งเห็นความสามารถแฝงด้านการร้องเพลงของแองเจล่าอีกด้วย
ทาโอะยังเป็นหนึ่งในตัวละครที่เป็นคีย์สำคัญของเรื่องในช่วงหลัง เนื่องจากเขาเคยดำเนินโครงการลับในการสร้างสมองมนุษย์ที่เป็นปัญญาประดิษฐ์ชั้นสูง ทำให้ผู้มีอำนาจในรัฐบาลคิดจะใช้มัน แต่ทาโอะก็ได้ปฏิเสธที่จะใช้มันเพื่อประโยชน์ของนักการเมือง
ร็อดดี้ เด็กหนุ่มที่ทำงานเป็นซาวด์เอ็นจิเนียร์ ซึ่งบังเอิญถ่ายคลิปที่สองสาวแครอลและทิวส์เดย์ขึ้นไปแอบเล่นดนตรีในเวทีคอนเสิร์ตที่อยู่ระหว่างเตรียมงาน แล้วแชร์คลิปนั้นออกไป ทำให้สองสาวได้แจ้งเกิด หลังจากนั้นร็อดดี้และกัสก็ได้เข้ามาร่วมทีมช่วยวางแผนดันสองสาวให้เข้าสู่วงการและเข้าแข่งขั้นประกวดร้องเพลงด้วย ร็อดดี้ยังสนิทสนมกับอีเทอร์กัน ดีเจชื่อดังของดาวอังคาร
น่าดูแค่ไหน
ถ้าต้องการอนิเมะที่มี “เพลงเพราะตลอดทั้งเรื่อง” มีดนตรีที่หลากหลายสไตล์ เนื้อหามีความดราม่าแต่ไม่หนักเกินไป เรื่องนี้ถือว่าตอบโจทย์เลยครับ
นอกจากนี้เรื่องยังมีจุดเด่นอีกอย่างคือ การให้นักร้องจริงๆมาเป็นคนให้เสียงร้องของตัวละครสำคัญในเรื่อง ตัวอย่างเช่น Carole ได้ Nai Br.XX เป็นผู้ให้เสียงร้อง และ Tuesday ได้ Celina Ann เป็นผู้ให้เสียงร้อง ซึ่งต้องยอมรับว่าทั้งสองสาวมีเสียงใสไพเราะมาก
ในส่วนของการดำเนินเรื่อง แบ่งเป็นสองพาร์ทหลัก ใน ss1 จะเน้นเรื่องราวการพบกันและตั้งวงดูโอของสองสาวแครอลและทิวส์เดย์ ชีวิตเริ่มต้นของนักร้องข้างถนน การจับมือกับโปรดิวเซอร์ขี้เมาที่คิดวิธีการที่ทั้งเข้าท่าและไม่ได้เรื่องออกมา การขึ้นเวทีคอนเสิร์ตแสดงสดในฐานะวงตัวแทนที่ทั้งสองสาวยังเป็นโนเนมแล้วต้องถูกความกดดันของผู้ชมเข้าเล่นงาน ไปจนถึงการเริ่มเข้าสู่การแข่งขันประกวดร้องเพลงเวทีใหญ่ของดาวอังคาร ซึ่งมีการรวมตัวของเหล่านักร้องและนักดนตรีที่หลากหลายสไตล์ไม่ว่าจะเป็น Rock, Pop, Jazz, R&B, Rapper, Opera ซึ่งทุกคนต่างก็มีความฝันจะโด่งดัง โดยเรื้อหาพาร์ทนี้จะเล่าเรื่องเสมือนการจำลองรายการ The Voice ของสหรัฐอเมริกาก็ว่าได้
โดยช่วงท้ายของซีซันแรกก็จะมีดราม่าเรื่องการจับคู่ของสองสาวว่าจะไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ และดราม่าเรื่องครอบครัวของทิวส์เดย์ที่เธอถูกตามตัวกลับ ไปจนถึงการแข่งขันกับเซเล็บอย่างแองเจล่าที่ซึ่งเป็นตัวละครที่เสมือนเป็นตัวแทนของนักร้องหน้าใหม่ที่อยากเข้าวงการแล้วมีความพร้อมทั้ง รูปลักษณ์ ชื่อเสียง กำลังเงิน และเจ้าตัวก็มีพรสวรรค์ด้านการร้องเพลงของจริงด้วย ก็จะทำให้เห็นภาพเปรียบเทียบกับสองสาวแครอลและทิวส์เดย์ ที่เป็นรองทุกอย่าง นอกเหนือจากการร้องเพลงที่ไพเราะไม่แพ้กัน แต่ก็เป็นเพลงคนละสไตล์ แถมในเรื่องยังมีมุมที่แสดงให้เห็นว่า เพลงแนวไหนที่ขายได้มากกว่าหรือน้อยกว่าด้วย
แล้วในเรื่องยังมีการโยนประเด็นคำถามชวนให้คิดว่า ระหว่าง A.I. ที่มีขอบเขตความสามารถที่จะคำนวณทุกอย่างแล้วนำมาแต่งเพลงเพื่อให้เกิดเพลงฮิต แล้วให้นักร้องไปร้องอีกที จะเข้ามาแทนที่การแต่งเพลงจากจิตวิญญาณและอารมณ์ของมนุษย์ได้จริงหรือ แม้ว่าในเรื่องก็ไม่ได้ให้คำตอบชัดเจน แต่มุมนี้จะมีการเล่าผ่านตัวละครทาโอะที่ตอนหลังเขาก็ยอมรับว่า เพลงที่คนเราแต่งขึ้นจากจิตวิญญาณและอารมณ์ก็สามารถดึงดูดใจและเข้าถึงผู้คนได้มากกว่า แต่ก็ไม่ได้แปลว่า A.I. จะไม่สำคัญ เพราะมันก็มีส่วนช่วยเพิ่มความสะดวกหลายอย่างให้มนุษย์ อยู่ที่ว่าเราจะใช้และมองในมุมไหน ซึ่งที่จริงแล้วในอนิเมะเรื่องนี้ก็ไม่ได้ปฏิเสธการใช้เอไอ แถมยังมีหลายตอนที่แสดงให้เห็นประโยชน์ของมันด้วย
ส่วนในซีซัน 2 เรื่องราวจะขยายสเกลใหญ่ออกไปจนถึงระดับการเมืองของดาวอังคารและความขัดแย้งกับโลกที่กลายเป็นประเด็นหลักที่ซ่อนอยู่ในเรื่อง รวมถึงการเล่าเรื่องที่มีส่วนแฝงนัยยะจิกกัดความเหลื่อมล้ำทางสังคม (ซึ่งก็สะท้อนกับโลกจริง)
โดยเนื้อหาในซีซันสองยังมีการเล่าเรื่องราวแต่ละตอนผ่านมุมมองของนักร้องและศิลปินหลายคนที่ดูแล้วเหมือนจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องหลัก แต่หากดูให้ดีแล้วจะพบว่าศิลปินเหล่านั้นเสมือนตัวแทนของศิลปินตัวจริงในโลก เช่นตอนของเดสมอนด์ ซึ่งถ้าใครดูแล้วก็คงอดคิดไม่ได้ว่าตัวละครนี้อาจจะได้แรงบันดาลใจมาจาก ไมเคิล แจ็คสัน ผสมผสานกับ เซอร์เอลตัน จอห์น ก็เป็นได้
อีกจุดที่ซีซัน 2 จงใจเน้นเป็นพิเศษคือ ด้านมืดของอุตสาหกรรมดนตรี และอีกมุมหนึ่งของชีวิตศิลปินที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ซึ่งปัญหาหลายอย่างสามารถพบได้ในโลกยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น เรื่องความกดดันและความเครียดของเหล่าศิลปินที่รับมือกับชื่อเสียงและเงินทองที่เข้ามามหาศาลไม่ไหว จนต้องหาทางออกกับยาเสพติดจนอาชีพล่มจม หรือเพศสภาพของศิลปินชื่อดังในยุคอดีตที่พวกเขาจำเป็นต้องปกปิดตัวตนแท้จริงไว้ ไปจนถึงปัญหาเรื่องการสตอคกิ้งเหล่าศิลปินโดยพวกแฟนโรคจิต เป็นต้น
แต่ถึงแม้ว่าซีซัน 2 จะเน้นเรื่องราวที่หนักขึ้น ดราม่ามากขึ้น การเล่าเรื่องราวก็ไม่ได้หดหู่ ในทางกลับกันกลับเต็มไปด้วยสีสันและพลังบวกที่แฝงอยู่ตลอดเรื่อง ซึ่งนอกจากการฟังเพลงเพราะๆในเรื่องแล้ว ยังช่วยเยียวยาจิตใจและผ่อนคลายความเหนื่อยล้าได้ดีครับ เรียกว่าเป็นอนิเมะที่ดูเพลินๆ รู้ตัวอีกทีก็จบแล้วครับ
ซึ่งเวลานี้ Carole and Tuesday ทั้ง ss1-2 มีครบแล้วใน Netflix สามารถรับชมได้เลยคับ
Carole and Tuesday Trailer ตัวอย่าง
ติดตามบทความทั้งหมดของผู้เขียนคลิกที่นี่
Reference Website