รีวิว Eden Netflix สวรรค์จักรกล อนิเมชั่นไซไฟดิสโทเปีย มนุษย์ในโลกที่มีแต่หุ่นยนต์
eden
สรุป
อนิเมะไซไฟโลกดิสโทเปีย มนุษย์คนเดียวในโลกที่มีแต่หุ่นยนต์ แล้วยังวิพากษ์กฎสามข้อของหุ่นยนต์ที่โด่งดังและจิกกัดสังคมมนุษย์ ได้กลิ่นอายของอนิเมะหลายเรื่องมายำรวมกัน ดูเพลินๆได้
Overall
8.5/10User Review
( vote)Pros
- งานภาพสะอาด โปรดักชั่นดี CG ออกแนวการ์ตูนเด็ก แต่ก็เข้ากับเรื่อง
- เป็นการผสมผสานไซไฟแบบอาสิมอฟ + จิบลิ + Wall-E + พิกซาร์ + โดราเอมอน
- ความสัมพันธ์พ่อแม่ลูกในเรื่องทำได้ซึ้งดี
- เพลงประกอบเพราะมาก เข้ากับเรื่อง
- มีเสียงพากษ์ไทย
Cons
- จำนวนตอนสั้น ทำให้การเล่าเรื่องรีบมากแล้วมีพล็อตโฮลบางจุด
- เรื่องน่าจะเน้นความสามารถในการเรียนรู้ของนางเอกมากกว่านี้
- ช่วงท้ายเรื่องต่อสู้กันแบบการ์ตูนเด็กมาก ทำให้ความเป็นไซไฟทริลเลอร์ในสามตอนแรกหายไปเลย
Eden Netflix รีวิว สวรรค์จักรกล อนิเมชั่น ไซไฟแนวดิสโทเปีย ที่บอกเล่าเรื่องราวของมนุษย์คนเดียวในโลกอนาคตที่มีแต่หุ่นยนต์ เรื่องเต็มไปด้วยการจิกกัดสังคม ปรัชญา ศาสนา และยังเล่นประเด็นเรียกร้องให้คนรักษาสิ่งแวดล้อม ที่พอโลกไม่มีมนุษย์เหลือแล้วก็ทำให้โลกฟื้นฟูกลับมามีสีเขียวและอุดมสมบูรณ์
อนิเมชั่นจะเป็นขนาดสั้น 4 ตอนจบ ตอนละ 25 นาที ซึ่งการเล่าเรื่องราวก็จะต่อเนื่องกันหมดเสมือนเรากำลังดูภาพยนตร์อนิเมไซไฟชั้นเยี่ยมเรื่องหนึ่ง ผลงานกำกับโดย Justin Leach ซึ่งเป็นอนิเมเตอร์ด้านสเปเชียลวิชชวลที่เคยร่วมในการสร้างผลงานชื่อดังอย่าง Ghost in the Shell 2, Last Exile และ Star Wars: Clone Wars มาแล้ว สามารถรับชมได้เลยทาง Netflix
ตัวอย่าง Eden Netflix Trailer
Eden Netflix รีวิว สวรรค์จักรกล เรื่องย่อ
อเนิเมชั่นจะเล่าเรื่องราวของโลกดิสโทเปียที่มนุษย์สูญสิ้นไปแล้วพันปี เหลือแต่หุ่นยนต์อยู่อาศัย กระทั่งหุ่นยนต์เพื่อการเกษตรสองตัวในพื้นที่ อีเดนสาม ได้บังเอิญค้นพบเด็กมนุษย์ที่ชื่อว่า “ซาร่า” โดยบังเอิญ แล้วตัดสินใจเลี้ยงดูเธอจนเติบโต
แต่เนื่องจากในโลกอนาคตนั้น มนุษย์กลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกตั้งค่าว่าเป็นภัยต่อโลก ทำให้หุ่นยนต์ทั้งสองกลัวว่าหากหุ่นยนต์ของกองกำลังตรวจสอบพบเข้า ซาร่าก็จะเป็นอันตราย ทั้งสองจึงตัดสินใจพาตัวซาร่าหนีไปเลี้ยงดูในพื้นที่ลับๆ เพื่อปกป้องซาร่าเอาไว้จากการตามล่าของกองกำลังหุ่นยนต์ที่มี “ซีโร่” เป็นผู้นำ
อนิเมชั่นเรื่องนี้ยังมีการดัดแปลงลงสู่ฉบับมังงะในชื่อเดียวกันของ สึโยชิ อิโซโมโตะ ซึ่งเพิ่งเขียนออกมาในต้นปี 2021 นี้เอง โดยตัวอนิเมชั่นเป็นการรวมทีมสร้างมากฝีมือหลายคนเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะ ยาสึฮิโระ อิริเอะ ที่เคยมีผลงานด้าน CG จาก FMA: Brotherhood มาดูแลด้าน CG และงานภาพให้ด้วย
Eden Netflix รีวิว
สำหรับโปรดักชั่นและตัวเรื่องจัดว่าเป็นอนิเมชั่นที่ใช้คาแรคเตอร์ดีไซน์สไตล์ญี่ปุ่นผสมงานภาพแบบอเมริกัน เนื้อหาจะมีกลิ่นอายแบบไซไฟของ ไอแซค อาสิมอฟ + จิบลิ + พิกซาร์ + Wall-E + โดยบางช่วงจะผสมผสานเรื่องราวแนวไซไฟทริลเลอร์คล้ายกับสไตล์ของ ปรมาจารย์ ฟูจิโกะ เอฟ ฟูจิโอะ (ผู้สร้างโดราเอมอนและอื่นๆ มากมาย) และ ริดลีย์ สกอต (ผู้สร้างเอเลี่ยนและโพรเมทิอุส)
สำหรับตัว CG กราฟฟิก จะมีความเป็นการ์ตูนเด็กสูงมาก และบางฉากก็ทำออกมาดูตลก แต่ดูเหมือนเป็นความตั้งใจของทีมสร้างที่ต้องการไม่ให้เรื่องมันหนักเกินไป และจะว่าไปแล้วก็เข้ากับเรื่องดีพอสมควร ส่วนการดีไซน์คาแรคเตอร์ดีไซน์ของนางเอกอย่างซาร่าก็แอบมีการขายความเซ็กซี่เล็กน้อยในบางฉากด้วย เรียกว่าแอบเอาใจเด็กโตอยู่เหมือนกัน
แต่สิ่งที่เด่นชัดแบบสุดๆคือ การเอา “กฎสามข้อของหุ่นยนต์” มาเป็นตัวเปิดเรื่อง ซึ่งนี่เป็นแนวคิดที่โด่งดังที่ถูกบัญญัติโดย ไอแซค อาสิมอฟ จากในซีรีส์นิยายไซไฟของเขา ไม่ว่าจะเป็น สถาบันสถาปนา ชุดหุ่นยนต์ และเรื่องสั้นต่างๆ (แล้วหนึ่งในนั้นถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ I Robot ที่เคยได้ วิล สมิธ นำแสดง) ซึ่งกฎสามข้อของหุ่นยนต์ถือว่าเป็นหลักเกณฑ์เกี่ยวกับหุ่นยนต์ที่โด่งดัง ได้รับการยอมรับ และถูกนำมาใช้ในอนิเมชั่นไซไฟหลายเรื่องมาก โดยเรื่องนี้จะเป็นการเอากฎสามข้อนี้มาวิพากษ์และใช้เป็นหัวใจหลักของเรื่องเลยก็ว่าได้
1.หุ่นยนต์ต้องไม่ทำอันตรายต่อมนุษย์ และไม่ยอมให้มนุษย์ตกอยู่ในอันตราย
2.หุ่นยนต์ต้องไม่เพิกเฉยต่อคำสั่งของมนุษย์ เว้นแต่จะเป็นการขัดแย้งกับกฎข้อแรก
3.หุ่นยนต์ต้องปกป้องสถานะความมีตัวตนของตนเองไว้ ตราบที่ไม่ขัดแย้งกับกฎข้อแรกและกฎข้อสอง
สำหรับกฎทั้งสามข้อของหุ่นยนต์ที่โด่งดังนี้ในเรื่องก็มีการนำมาทั้งสามข้อมาดัดแปลงบางจุดใหม่ให้เป็นหลักจริยธรรมของหุ่นยนต์ นั่นคือ
1.ผู้พัฒนาต้องสร้างหุ่นยนต์เพื่อช่วยเหลือมนุษย์ และไม่พัฒนาระบบที่เป็นภัย
2.ผู้พัฒนาต้องป้อนคำสั่งให้หุ่นยนต์สามารถซ่อมแซมตนเองและช่วยเหลือกันได้เพื่อความปลอดภัย
3.หากหุ่นยนต์ตนใดไม่มีคุณสมบัติในสองข้อแรก จะต้องระงับการใช้งาน
อนิเมชั่นยังมีการ วิพากษ์และจิกกัดสังคมโลก ไปจนถึงล้อเลียนความเชื่อในไบเบิลบางจุด ไม่ว่าจะเป็น ผลไม้แอปเปิล ในสวนอีเดน หรือการตั้งชื่อเอไอของฝั่งหุ่นยนต์กองกำลังที่คิดว่ามนุษย์เป็นภัยที่ต้องกำจัด โดยใช้ชื่อว่า เจนีวา (ชื่อเมืองสำคัญในสวิสเซอร์แลนด์ และเป็นชื่อของสนธิสัญญาที่ว่าด้วยหลักมนุษยธรรม) ในขณะที่เอไอของฝั่งที่ปกป้องมนุษย์ใช้ชื่อว่า ซูริค (เมืองใหญ่ที่มีชื่อเสียงในสวิสเซอร์แลนด์)
แล้วอีกจุดหนึ่งที่ทำได้ดีและดีมากอย่างคาดไม่ถึง คือการเล่นกับความสัมพันธ์ พ่อแม่–ลูก ระหว่างหุ่นยนต์ทั้งสองตัวกับซาร่า ซึ่งปมนี้เรื่องทำได้ดีมาตลอดตั้งแต่เปิดฉากในตอนแรก และทำได้พีคมากในตอนที่ 3 บางคนอาจถึงขั้นเสียน้ำตากันได้เลย (แม้ฉากนี้จะแอบตลกนิดหน่อยที่ตัวร้ายปล่อยให้นางเอกมีฉากดราม่ากับพ่อแม่ ไม่ได้รีบเอาตัวไป)
ส่วนข้อด้อยของเรื่องก็มีไม่น้อย ส่วนหนึ่งอาจเพราะความที่เนื้อหามีแค่ 4 ตอน ทำให้การเล่าเรื่องหลายอย่างถูกจำกัดเวลา และต้องรีบเดินเรื่องมากเกินไปโดยเฉพาะในตอนที่ 4 ซึ่งในตอนนี้จะมีความฉีกออกมาจาก 3 ตอนแรกอย่างเห็นได้ชัด คือในตอนสุดท้ายนี้เรื่องใช้การคลี่คลายในแบบ อนิเมะญี่ปุ่นโชเน็น อาจเพราะตัวผู้กำกับได้รับอิทธิพลจากงานอนิเมะญี่ปุ่นหลายเรื่องที่เขาไปมีส่วนร่วมก็ได้ เลยทำให้การต่อสู้กับบอสใหญ่ของเรื่องคือ ซีโร่ กลายเป็นแนว ขับหุ่นยนต์สู้ เหมือนกำลังดู กันดั้ม + โดราเอมอนตอนพิเศษ ไปเลย ซึ่งหลายคนอาจจะรู้สึกว่าความจริงจังของเนื้อหาในสามตอนแรกมันเบาบางลงไปเยอะ ไม่ได้กดดันหรือออกแนวไซไฟทริลเลอร์แบบสามตอนแรก แต่กลายเป็นการ์ตูนเด็กเล็กแทน แม้จะไม่ใช่ว่าไม่ดี เพียงแต่น่าจะทำได้ดีกว่านี้หลังจากสามตอนแรกมีความเป็นไซไฟทริลเลอร์อยู่ตลอด
แล้วอีกจุดที่น่าเสียดายคือ ตัวเรื่องไม่ได้เน้นความสามารถในการเรียนรู้ของนางเอกมากนัก ทั้งที่เป็นคีย์สำคัญอย่างหนึ่งของเรื่อง จากการที่เธออ่านหนังสือเท่านั้นก็สามารถเรียนรู้เรื่องการใช้เครื่องจักรกลที่ซับซ้อนถึงขั้นสร้างเครื่องมือต่างๆ ขึ้นมาได้ ตรงนี้น่าจะมีการขยายความเพิ่มอีกสักหน่อย ถึงแม้จะทำให้คนดูเข้าใจได้ทันทีว่านางเอกเป็นพวกเด็กอัจฉริยะที่มีความสามารถสูงก็ตามที
ส่วนบทสรุปในตอนจบ เรื่องก็มีการทิ้งเชื้อไว้สำหรับทำซีซันต่อหรือจะขยายจักรวาลก็ได้ ซึ่งก็เป็นฉากจบแบบ Feel Good ให้ความหวังต่อมนุษย์ ว่าจะทำในสิ่งต่างๆเพื่อโลกได้ดีขึ้นก็ได้ ถ้าหากว่ามนุษย์เราได้รับโอกาสที่สอง แบบที่นางเอกก็มีความหวัง ซึ่งก็เหมือนกับอนิเมะแนวดิสโทเปียโลกอนาคตหลายเรื่องที่เคยสร้างกันมา แม้จะเป็นการจบที่เฝือไปบ้าง แต่ก็อาจจะเข้ากับสถานการณ์ของโลกก็เป็นได้ โดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อม มลภาวะ โลกร้อน ไปจนถึงโรคระบาด นี่จึงเป็นอนิเมะชั่นที่มีความญี่ปุ่น+อเมริกัน แนะนำว่าเด็กและผู้ใหญ่ควรนั่งดูด้วยกันครับ เพราะให้ข้อคิดที่ดีมาก แถมเน้นเรื่องความสัมพันธ์ครอบครัวด้วย
ติดตามบทความทั้งหมดของผู้เขียนคลิกที่นี่
Reference Website