รีวิว Halston Netflix ฮาลสตัน แฟชั่นบรรลือโลก สร้างจากเรื่องจริงของเจ้าพ่อแบรนด์ดังในอดีต
Halston
สรุป
มินิซีรีส์วงการแฟชั่น ชีวประวัติของฮาลสตัน เจ้าพ่อวงการในยุค 60-80 ยวน แมกเกรเกอร์แสดงได้ตีบทแตกมาก เป็นหนังให้แง่คิดในการทำงานที่ดี และเรต 18+
Overall
7/10User Review
( vote)Pros
- เดินเรื่องเร็ว กระชับ เป็นงานโปรดักชั่นดี
- ยวน แมกเกรเกอร์ แสดงได้ยอดเยี่ยมมาก ทั้งสำเนียง วิธีพูด ท่าทาง
- บทหนังเป็นแนวให้กำลังใจ และเตือนสติคนทำงานและคนทำธุรกิจได้ดี ให้ข้อคิดมาก
Cons
- ปูบทตัวละครรองมาน้อยไป ถ้าเทียบกับความสำคัญในเรื่อง
- พาร์ทในวงการแฟชั่นดูเข้าใจยากนิดหน่อย
- ใส่ฉาก 18+ ของชาวเกย์เข้ามามากไปนิด
Halston Netflix รีวิว ฮาลสตัน มินิซีรีส์ 5 ตอนจบ ชีวประวัติบางส่วนของ ฮาลสตัน อดีตดีไซน์เนอร์ชื่อดังผู้ก่อตั้งแบรนด์ ฮาลสตัน ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นแบรนด์ Luxury แบรนด์แรกของสหรัฐอเมริกา ที่ผงาดขึ้นมาในยุคสมัยที่วงการแฟชั่นหรูเป็นของฝั่งยุโรป ซีรีส์นำเสนอชีวิตที่ขึ้นสู่จุดสูงสุดในอาชีพการงานและธุรกิจ รวมถึงช่วงตกต่ำของชีวิต
หนังนำแสดงโดย ยวน แม็กเกรเกอร์ ดัดแปลงจากหนังสือต้นฉบับเขียนโดย Steven Gaines กำกับโดย Daniel Minahan ดูได้เลยใน Netflix
ตัวอย่าง Halston Netflix Trailer
ฮาลสตัน ประวัติจริง
ตามประวัติจริงของ ฮาลสตัน เขาเป็นดีไซน์เนอร์มีชื่อเสียงมากในสหรัฐอเมริกาช่วงทศวรรษ 60-80 เป็นผู้ก่อตั้งแบรนด์ ที่ใช้ชื่อตัวเขาเองเป็นจุดขาย โดยในช่วงแรกเขาเริ่มจากการเป็นนักออกแบบหมวกที่ได้รับความนิยม จนกระทั่งในยุค 60 คนอเมริกันเริ่มไม่นิยมใส่หมวกเวลาออกนอกบ้านเหมือนแต่ก่อนแล้ว ทำให้ฮาลสตันขยับมาสู่วงการชุดชั้นและเครื่องแต่งกายผู้หญิงอย่างเต็มรูปแบบ
จุดเปลี่ยนสำคัญคือการที่เขาได้เซ็นสัญญากับ เดวิด มาโฮนี่ นักธุรกิจรายใหญ่จากวงการอาหาร ที่ต้องการเข้ามาสู่วงการแฟชั่น รวมถึงโอกาสในการเข้าไปร่วมแสดงในงานแฟชั่นโชว์ครั้งใหญ่ที่ปารีสที่เขาจะต้องประชันกับดีไซน์เนอร์ชื่อดังจากยุโรป ซึ่งก็ได้ทำให้ชื่อเสียงของเขากลายเป็นที่รู้จัก และแบรนด์ของฮาลสตันก็เริ่มผลิตสินค้าต่างๆออกมามากมายที่เน้นไปยังกลุ่มตลาดบน เป็นสินค้ากลุ่ม Luxury สุดหรู แต่ภายหลังเพราะการขัดแย้งหลายอย่างทางธุรกิจ ทำให้ฮาลสตันพลาดไปเซ็นสัญญาขายลิขสิทธิ์ชื่อของเขาไป ที่แม้ว่ามันจะแลกมาด้วยเงินมหาศาล แต่เขาก็ไม่ได้มีความสุขอีก เพราะเขาหมดสิทธิ์ที่จะใช้ชื่อของตนเองในการทำงาน
ในด้านชีวิตส่วนตัวของฮาลสตัน เขาเป็นพวกรักร่วมเพศ และติดการเสพโคเคน ต่อมาจึงป่วยจากการติดเชื้อ HIV และเสียชีวิตในปี 1990 ซึ่งเรื่องราวในชีวิตส่วนตัวของเขาในส่วนนี้ถูกปกป้องไว้โดยครอบครัวของฮาลสตันที่เหลือ รวมถึงมิตรสหายและผู้คนที่ถือว่าเขาเป็นไอดอล ซึ่งหลายคนเป็นผู้ที่มีอิทธิพลในวงการแฟชั่น บ้างก็ยังมีชีวิตอยู่และเพิ่งเสียชีวิตไปไม่นาน
Halston รีวิว
สำหรับผู้ที่ไม่เคยรู้จักชื่อของ ฮาลสตัน มาก่อน ก็ไม่ได้ต้องแปลกใจ เพราะในสหรัฐอเมริกาเอง บางคนก็เหมือนจะลืมชื่อนี้ไปแล้วเช่นกัน แต่ในยุค 60-80 นี่คือหนึ่งในชื่อยักษ์ใหญ่ของวงการแฟชั่น ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้า ชุดชั้นใน หมวก น้ำหอม และเครื่องประดับต่างๆ แล้วยังได้ชื่อว่าเป็นแบรนด์ยี่ห้อแรกในสหรัฐอเมริกาที่สามารถตีตลาด Luxury กลุ่มบนได้ เนื่องจากในยุคนั้นตลาดนี้เป็นของแบรนด์ดังจากยุโรปเป็นหลัก
ก่อนอื่นต้องขอชื่นชมนักแสดง ยวน แมกเกรเกอร์ เขาคือข้อดีสุดของซีรีส์เรื่องนี้ ทั้งการแสดงออกในด้านท่าทาง วิธีพูด น้ำเสียงที่ใช้ และอื่นๆ เรียกว่าตีบทแตกเลยทีเดียว (เขาให้สัมภาษณ์ว่าไม่เคยรู้เรื่องของฮาลสตันมาก่อนเลย แต่ต้องการตีบทตัวละครให้แตก จึงไปดื่มน้ำชากับ ไลซ่า มินเนลลี่ ตัวจริง เพื่อขอข้อมูล)
มินิซีรีส์มีความกระชับมาก พาเราเข้าสู่เส้นเรื่องหลักอย่างรวดเร็ว โดยไม่เสียเวลาปูพื้นตัวละครมากเกินไป แต่ตรงนี้ก็เป็นข้อด้อยไปในตัวด้วย เพราะเรื่องนี้มีตัวละครรองหลายคนที่มีความสำคัญกับชีวิตของฮาลสตัน แต่กลับถูกปูบทมาน้อยเกินไป อีกทั้งตัวซีรีส์มีความเป็นเรื่องราวการสร้างตัวในการทำธุรกิจวงการแฟชั่น แต่ก็ไม่ได้บอกเราว่ากว่าฮาลสตันจะกระโดดเข้าสู่วงการแฟชั่นได้ต้องทำอะไรบ้าง
แต่ในส่วนนี้ก็ถือว่าเป็นข้อดีได้เหมือนกัน เพราะซีรีส์รีบพาเราเข้าสู่ช่วงสำคัญในชีวิตและการสร้างตัวในวงการแฟชั่นของเขาที่ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญจริงๆ และไปเน้นในจุดเหล่านั้นแทน รวมถึงการบอกเล่าวิธีคิดในการทำงานออกแบบสินค้าของเขา ว่าเขามีไอเดียสร้างสรรค์อย่างไร มีวิธีคิดและมุมมองอย่างไร จึงทำให้แบรนด์ของเขาผงาดขึ้นมาในตลาดระดับบนของสังคมอเมริกันยุคนั้นได้ ทั้งที่ก็มีคู่แข่งมากมาย
ตัวหนังยังให้พื้นที่ในส่วนของชีวิตรักของฮาลสตันกับ วิคเตอร์ ฮูโก คู่รักหนุ่ม ซึ่งมีช่วงเวลาหวานชื่นและความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงที่ทำให้เกิดความแตกหักกันไปในภายหลัง
อีกจุดที่น่าจะเป็นข้อจำกัดของหนังก็คือ ตัวละครบางคนในเรื่องนี้ มีตัวตนจริง และบางคนมีชีวิตอยู่ โดยเฉพาะ ไลซ่า มินเนลลี่ ซึ่งเป็นเพื่อนหญิงคนสำคัญของฮาลสตัน รวมถึงอดีตผู้ช่วยคนสำคัญของเขา เช่น เอลซ่า เพเรติ และ โจ ยูลา ที่เป็นผู้มีอิทธิพลในวงการแฟชั่นของสหรัฐมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นการจะนำเสนอเรื่องราวบางอย่างในแง่ลบเกินไปจึงทำไม่ได้ไปด้วย เพราะอาจจะถูกฟ้องร้องได้ พาร์ทดราม่าของเรื่องนี้จึงไม่ได้มาแนวดราม่าชีวิตรุนแรงเกินไป
ส่วนบทสรุปก็ถือว่าทำได้ดี ตามข้อจำกัดของซีรีส์เองจากการที่ฮาลสตันเป็นบุคคลระดับไอดอลของวงการที่มีผู้ชื่นชมและเพื่อนฝูงอยู่ไม่น้อย การนำเสนอบทสรุปสุดท้ายของฮาลสตันในซีรีส์เรื่องนี้จึงไม่ได้ทำให้เราเห็นภาพการเสียชีวิตโต้งๆ แต่ใช้ชั้นเชิงในการปิดเรื่องราวและก็ทำได้ดีในระดับหนึ่งครับ
ติดตามบทความทั้งหมดของผู้เขียนคลิกที่นี่
Reference Website