ขุนแผน ประวัติ ที่มีอยู่จริงในฐานะแม่ทัพจอมขมังเวท ดาบฟ้าฟื้น และ ม้าสีหมอกด้วย
ขุนแผน ประวัติ และ ดาบฟ้าฟื้น ทราบหรือไม่ว่ามีอยู่จริงในบันทึกประวัติศาสตร์
ชื่อของขุนแผน เป็นแม่ทัพและจอมขมังเวทที่มีชื่อปรากฏอยู่จริงในสมัยของ พระพันวษา พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา รวมถึงดาบฟ้าฟื้นและม้าสีหมอก ก็มีปรากฎอยู่ในบันทึกประวัติศาสตร์ จากคำให้การกรุงเก่าเช่นกัน
ตรงนี้ขอเกาะกระแสหนัง ขุนแผนฟ้าฟื้น เล็กน้อยครับ ซึ่งก็เชื่อได้เลยว่า ทุกคนต้องเคยผ่านเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ที่มีการใช้สอนประกอบวิชาภาษาไทยกันอยู่แล้ว เนื่องจากได้ชื่อว่าเป็นนิทานคำกลอนที่มีชื่อเสียงมากสำหรับวรรณคดีของไทย แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่าชื่อและเรื่องราวของ ขุนแผน ประวัติ ของเขามีปรากฏอยู่ชัดเจนในคำให้การกรุงเก่า มีฐานะเป็นทั้งนายทหารเอกและจอมเวทย์ในสมัย พระพันวษา
แต่เดิมขุนแผนได้ถูกคุมขังไว้ แล้วถูกปล่อยตัวออกมาเพื่อให้นำทัพทำศึกปราบกบฏเชียงใหม่ แล้วไม่เพียงแต่ชื่อของ ขุนแผนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงดาบฟื้าฟื้น และม้าสีหมอก ซึ่งเป็นของวิเศษ ก็มีอยู่ปรากฏอยู่ในบันทึกด้วย
ขุนแผน ประวัติ ในคำให้การกรุงเก่า
เรื่องราวของ ขุนช้างขุนแผน อาจจะไม่ใช่เรื่องจริงทั้งหมด แต่มีส่วนหนึ่งที่ถือว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเรื่องนี้มีการจดบันทึกไว้ในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า ซึ่งนับเป็นเรื่องในพระราชพงศาวดาร
เรื่องของขุนแผนถูกกล่าวถึงครั้งแรกเมื่อครั้ง พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระพันวษา ทราบเรื่องที่เจ้านครเชียงใหม่เป็นกบฏ จึงต้องการจัดทัพไปปราบศึก มีราชโองการให้พระหมื่นศรีมหาดเล็ก ผู้เป็นขุนนางข้าหลวงคนสนิทเข้าเฝ้าแล้วให้เลือกจัดหานายทหารที่มีฝีมือการทำศึกแกร่งกล้านำทัพไปปราบข้าศึก ซึ่งความตอนนี้กล่าวถึงในคำให้การกรุงเก่าว่า
“พระหมื่นศรีจึงกราบทูลว่า ในทหารไทยในเวลานี้ ผู้ใดจะเป็นทหารเอกยอดดีไปกว่าขุนแผนนั้นไม่มี ด้วยขุนแผนเป็นผู้รู้เวทมนตร์เชี่ยวชาญ ใจกล้าหาญเป็นยอดเสนา และมีใจกตัญญูกตเวที รู้พระเดชพระคุณเจ้าหาตัวเปรียบได้ยาก บัดนี้ขุนแผนเป็นโทษต้องรับพระราชอาญาจำอยู่ ณ คุก ถ้าโปรดให้ขุนแผนเป็นทัพหน้ายกขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ในครั้งนี้คงจะมีชัยชนะโดยง่าย ไม่ต้องร้อนถึงทัพหลวงและทัพหลังเพียงปานใด สมเด็จพระพันวษาก็ทรงระลึกได้ถึงขุนแผน ด้วยทรงทราบว่าเป็นทหารมีฝีมือมาแต่ก่อน จึงทรงพระกรุณาโปรดให้ขุนแผนพ้นโทษ มีรับสั่งให้พระหมื่นศรีนำขุนแผนเข้ามาเฝ้าโดยเร็ว”
“พระหมื่นศรีได้รับสั่งแล้วก็ไปบอกนครบาลให้ถอดขุนแผนจากเรือนจำ นำตัวเข้ามาหมอบเฝ้าถวายบังคมต่อหน้าพระที่นั่งในท้องพระโรง ในขณะนั้น สมเด็จพระพันวษาจึงมีพระราชโองการตรัสถามขุนแผนว่า เฮ้ยอ้ายขุนแผน เอ็งจะอาสากูยกขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ ปราบปรามเจ้าโยนกอันธพาลให้เห็นฝีมือทหารไทย รับนางคืนมาให้กูจะได้หรือมิได้ประการใด ขุนแผนจึงกราบบังคมทูลว่า ข้าพระบาทผู้เป็นข้าทหาร ชีวิตอยู่ในใต้ฝ่าพระบาทของพระองค์ผู้ทรงพระเดชพระคุณปกเกล้ามาแต่ปู่แลบิดา ข้าพระองค์ขอรับอาสาขึ้นไปตีนครเชียงใหม่ ปราบเจ้าโยนกให้กลัวเกรงพระเดชานุภาพของพระองค์ รับพระราชธิดาพระเจ้าลานช้างคืนมาถวายจงได้ ถ้าตีนครเชียงใหม่ไม่ได้แล้วขอถวายชีวิต สมเด็จพระพันวษาได้ทรงฟังขุนแผนกราบทูลรับอาสาแข็งแรงดังนั้นก็ดีพระทัยนัก จึงโปรดตั้งให้ขุนแผนเป็นแม่ทัพ ถืออาญาสิทธิ์คุมกองทัพทหารไทยยกขึ้นไปตีนครเชียงใหม่”
“ขุนแผนจึงกราบถวายบังคมลายกกองทัพขึ้นไปถึงเมืองพิจิตร จึงแวะเข้าหาพระพิจิตรเจ้าเมือง ขอให้ส่งดาบเวทวิเศษกับม้าวิเศษที่ฝากไว้แต่ก่อนคืนมาให้ จะไปใช้ในการรบศึก ดาบวิเศษของขุนแผนนั้น ในภายหลังต่อๆ มามีผู้เรียกว่า ดาบฟ้าฟื้น มีฤทธิเดชนัก ม้าวิเศษนั้นเรียกว่า ม้าสีหมอก ขับขี่เข้าสู่สงครามหลบหลีกข้าศึกได้คล่องแคล่วว่องไวนัก”
“ขุนแผนได้ดาบเวทวิเศษและม้าวิเศษแล้วก็ลาเจ้าเมืองพิจิตรรีบยกขึ้นไปถึงแดนนครเชียงใหม่ ฝ่ายเจ้านครเชียงใหม่รู้ว่ากองทัพกรุงศรีอยุธยายกขึ้นมา จึงแต่งกองทัพให้ยกออกมาสู้รบต้านทาน ขุนแผนแม่ทัพก็ขับพลทหารไทยเข้าต่อตีพลลาวยวนเชียงใหม่โดยสามารถ กองทัพเชียงใหม่ก็แตกพ่ายแพ้หนีกลับเข้าเมือง จะปิดประตูลงเขื่อนก็ไม่ทัน ขุนแผนก็ยกติดตามรบรุกบุกบันเข้าเมืองได้ ไล่ฆ่าฟันพลลาวล้มตายลงเป็นอันมาก ฝ่ายเจ้านครเชียงใหม่เห็นข้าศึกเข้าเมืองได้ก็ตกใจไม่มีขวัญ จึงขึ้นม้าหนีออกนอกเมืองไป”
“ขุนแผนจึงคุมทหารเข้าล้อมวัง ไปจับอรรคสาธุเทวีมเหสีพระเจ้าเชียงใหม่ กับราชธิดาอันมีนามว่าเจ้าแว่นฟ้าทอง กับนางสนมน้อยใหญ่ของพระเจ้านครเชียงใหม่ให้รวบรวมไว้พร้อมด้วยกัน แลให้เชิญนางสร้อยทองราชธิดาพระเจ้านครลานช้างที่เจ้านครเชียงใหม่ไปแย่งชิงมาไว้ให้ออกมาจากหอคำ จึงเชิญนางสร้อยทองพระราชธิดาพระเจ้าลานช้าง กับมเหสีราชธิดาพระเจ้านครเชียงใหม่ที่จับไว้ได้ เลิกกองทัพกลับลงมาถวายพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา และกราบทูลข้อราชการทัพที่มีชัยชนะนั้นให้ทรงทราบทุกประการ”
“สมเด็จพระพันวษาก็มีพระทัยยินดีนัก จึงทรงพระราชดำริถึงทศพิศราชธรรมตรัสว่า ซึ่งเจ้านครเชียงใหม่สู้ฝีมือกองทัพไทยมิได้ หนีออกจากเมืองไป ทิ้งเมืองให้ว่างเปล่าไว้ไม่มีเจ้าปกครองดังนั้นไม่ควร สมณชีพราหมณ์ราษฎรจะได้ความเดือดร้อน จึงทรงตั้งอำมาตย์ผู้ใหญ่ ให้เป็นข้าหลวงขึ้นไปเกลี้ยกล่อมราษฎรพลเมืองเชียงใหม่ไม่ให้แตกตื่นวุ่นวาย ให้เสนาข้าราชการชาวเมืองเชียงใหม่นั้นไปติดตามเชิญพระเจ้าเชียงใหม่ กลับเข้ามาครอบครองบ้านเมืองอยู่เป็นปรกติตามเดิมดังเก่า”
“ในขณะนั้น พระองค์จึงทรงโปรดพระราชทานบำเหน็จรางวัลเป็นต้นว่าเงินทอง สิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภค แก่ขุนแผนผู้เป็นแม่ทัพ แลนายทัพนายกองตลอดจนพลโยธาทวยหาญ ผู้ไปรบศึกมีชัยชนะมาในครั้งนั้นเป็นอันมาก ครั้นแล้วพระองค์จึงทรงตั้งนางสร้องทองราชธิดาพระเจ้าศรีสัตนาคนหุตลานช้าง เป็นพระมเหสีซ้าย แลตั้งนางแว่นฟ้าทองราชธิดาเจ้านครเชียงใหม่เป็นพระสนมเอก แต่มเหสีเจ้านครเชียงใหม่ผู้เป็นมารดาของนางแว่นฟ้าทองพระสนมเอกนั้น โปรดแต่งข้าหลวงพร้อมด้วยพวกพลพาขึ้นไปส่งต่อพระเจ้านครเชียงใหม่ โดยพระทัยทรงพระกรุณา ฝ่ายข้าคนชายหญิงชาวนครลานช้างแลชาวนครเชียงใหม่นั้น ก็ทรงโปรดให้ตั้งทำมาหากินอยู่ตามภูมิลำเนา ในกรุงศรีอยุธยา”
“ฝ่ายขุนแผนซึ่งเป็นทหารเอกยอดดีมีชื่อเสียงปรากฏในกรุงศรีอยุธยาในครั้งนั้น เมื่อคิดเห็นว่าตนแก่ชราแล้ว จึงนำดาบเวทวิเศษของตนเข้าถวายสมเด็จพระวันวษา เพื่อเป็นพระแสงทรงสำหรับพระเจ้าแผ่นดินต่อไป พระองค์ทรงรับไว้เป็นพระแสงทรงสำหรับพระองค์ แล้วจึงทรงประสิทธิประสาทนามว่า พระแสงปราบศัตรู แลทรงตั้งนามพระแสงขรรค์แต่ครั้งพระยาแกรกนั้นว่าพระขรรค์ไชยศรี โปรดให้มหาดเล็กเชิญตามเสด็จซ้ายขวา แลมีรับสั่งให้เชิญพระรูปพระยาแกรกกับมงกุฎของพระยาแกรกเข้าไว้ในหอพระที่นมัสการในพระราชวัง พระรูปพระยาแกรกกับมงกุฎทรงยังมีปรากฏอยู่จนตราบเท่าทุกวันนี้”
จากทั้งหมดนี่คือเนื้อความทั้งหมดที่มีการกล่าวถึงขุนแผนในคำให้การกรุงเก่า ซึ่งเราจะเห็นว่า มีการพูดถึง ดาบฟ้าฟื้น และ ม้าสีหมอก ในฐานะของวิเศษคู่กายที่ใช้ออกศึก รวมถึงความสามารถในฐานะจอมเวทย์ของตัวขุนแผนเองด้วย แล้วที่สำคัญคือ หลังจากขุนแผนชราแล้ว ดาบฟ้าฟื้นก็ถูกนำไปถวายให้พระพันวษา ซึ่งต่อมากลายเป็นพระแสงของพระมหากษัตริย์อีกด้วย ในชื่อ พระแสงปราบศัตรู
ส่วนเรื่องราวอื่น ๆ ทั้งที่เกี่ยวกับตัวละครสำคัญเช่น ขุนช้าง และ นางวันทอง จะอยู่ในส่วนของเสภาขุนช้างขุนแผนที่ชาวบ้านสมัยนั้นนิยมเล่าและร้องกัน แล้วก็ร้องกันสืบทอดต่อมา ซึ่งจะเรียกว่าเป็นนิทานสไตล์ Folk Song เหมือนกับของโลกตะวันตก หรือนิทานขับร้องพื้นบ้าน ที่มีอยู่ทุกมุมโลกครับ
ขุนแผนฟ้าฟื้น ตัวอย่างหนัง
ติดตามบทความทั้งหมดของผู้เขียนคลิกที่นี่
เว็บไซต์อ้างอิง
ขุนช้างขุนแผน ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ