รีวิว The Boys in the Band (Netflix) หนังรีเมกจากละครบรอดเวย์ โดยชาวเกย์และเพื่อชาวเกย์
The Boys in the Band
สรุป
หนังรีเมกจากละครบรอดเวย์ เขียนบท สร้างและแสดงโดยชาวเกย์ เพื่อชาวเกย์ แฝงสาระบางอย่างที่เฉพาะกลุ่มเอามากๆ แต่หากท่านไม่ใช่ชาวเกย์แล้ว ข้ามหนังเรื่องนี้ไปเลยก็ได้
Overall
5.5/10User Review
( votes)Pros
- เป็นหนังที่สร้างและแสดงโดยชาวเกย์อย่างแท้จริง หาได้ยากมาก
- เป็นหนังรีเมกจากละครและหนังในอดีตที่ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ของฮอลลีวูด
- นักแสดงหลักการันตีฝีมือ
- สะท้อนปัญหาชาวเกย์ LGBT ในเรื่องง่ายๆได้ดี
Cons
- นี่คือหนังเฉพาะกลุ่มอย่างถึงขีดสุด ถ้าไม่ใช่เกย์ กดข้ามไปเถอะ
- หนังใช้เวลานานมากในการปูเรื่อง
- มีบทพูดเข้าใจยาก และเป็นมุกเฉพาะกลุ่มเกินไป
- บทตัวละคร ไม่เอื้อต่อความสามารถในการแสดงของ Zachary Quinto อย่างที่ควรเป็น
The Boys in the Band Netflix รีวิว ภาพยนตร์เพื่อชาวเกย์ LGBT ได้สองนักแสดงเกย์มากฝีมืออย่าง Jim Parson ที่โด่งดังจากบท เชลด็อน ใน The Big Bang Theory และ Zachary Quinto ที่โด่งดังจากบท สป็อค จากใน Star Trek
สำหรับเรื่องนี้เป็นภาพยนตร์รีเมกจากต้นฉบับที่เคยสร้างเป็นละครบรอดเวย์เมื่อปี 1968 แล้วได้กลายเป็นภาพยนตร์ในปี 1970 ซึ่งการกลับมารอบนี้ เป็นการเขียนบทและอำนวยการสร้างโดย Mart Crowley เจ้าของผลงานที่เคยสร้างฉบับออริจินอลไว้ในอดีตแล้วได้นำเรื่องนี้มาทำเป็นละครบรอดเวย์เมื่อปี 2018 จนมีชื่อเสียงอีกครั้ง จากนั้นก็ได้ทีมนักแสดงชุดเดิมมารับบทในเวอร์ชั้นภาพยนตร์สำหรับ Netflix
โดยผลงานกำกับเป็นของ Joe Mantello ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เพิ่งร่วมงานกับ Jim Parson ในมินิซีรีส์เพื่อชาว LGBT อย่าง Hollywood ซึ่งก็เข้าฉายใน Netflix เช่นกัน
ตัวภาพยนตร์ มีความยาว 2 ชั่วโมง พร้อมเบื้องหลังการถ่ายทำอีก 28 นาที เพื่อให้รู้ที่มาที่ไปของภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่ได้ชื่อว่าเป็นการเสี่ยงอย่างมาก เนื่องจากนักแสดงหลักในเรื่องเกือบทั้งหมดเป็นเกย์จริงๆ
ตัวอย่าง The Boys in the Band Netflix
The Boys in the Band เรื่องย่อ
Jim Parson และ Zachary Quinto สองนักแสดงเกย์มากฝีมือ ที่การกลับมารอบนี้พร้อมเหล่านักแสดงและทีมสร้างชาวเกย์อีกหลายคนที่เข้ามาร่วมแสดงในภาพยนตร์ที่สร้างมาเพื่อสะท้อนสังคมชาวเกย์จริงๆ ในสมัยที่สหรัฐอเมริกายังไม่เปิดรับเรื่องนี้ โดยจับความในปี ค.ศ. 1968 ก่อนหน้าที่จะเกิดการเดินขบวนครั้งใหญ่เพื่อเรียกร้องสิทธิของชาวเกย์และ LGBT ในยุคนั้น
ภาพยนตร์เป็นการรีเมกจากฉบับออริจินอลเมื่อ 50 ปีก่อน บอกเล่าเรื่องราของ เกย์หนุ่ม 9 คน ที่จัดงานเลี้ยงฉลองวันเกิดให้กับเพื่อนตนเอง ซึ่งในยุคนั้นงานเลี้ยงของชาวเกย์เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย หากถูกตำรวจจับได้ ดังนั้นจึงเป็นความเสี่ยงของชาวเกย์เหล่านั้นด้วย
ซึ่งในงานปาร์ตี้นั้น ก็เป็นการรวมตัวของเพื่อนชาวเกย์ที่ห่างหายไปนาน และมีคนที่กำลังสับสนอยู่ว่าตัวเองเป็นเกย์หรือไม่ ไปจนถึงคนที่แต่งงานกับภรรยาแต่ก็ตัดสินใจเลือกที่จะมาหาคู่รักชาวเกย์ นี่จึงเป็นเรื่องของกลุ่มเพื่อนชาวเกย์ที่มาปาร์ตี้กัน ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติสำหรับสังคมปัจจุบัน แต่มันไม่ปกติสำหรับสังคมในอดีต
The Boys in the Band รีวิว
นี่คือภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นมา “โดยชาวเกย์ และเพื่อชาวเกย์” อย่างแท้จริงมากๆเรื่องหนึ่ง พลอตหนังไม่ได้มีอะไรมากไปว่าการจับเกย์ 9 คนที่เป็นเพื่อนกัน มางานปาร์ตี้ พูดจาเชือดเฉือนเล่นมุกใส่กัน แสดงจริตความเป็นเกย์อย่างเต็มที่ ไปจนถึงก่อดราม่ากันเองด้วย
ที่สำคัญก็คือนักแสดงที่เล่นเป็นเกย์ทั้ง 9 คนนั้นก็เป็นเกย์จริงๆ เกือบทุกคน โดยเฉพาะสองดารานำอย่าง Jim Parson และ Zachary Quinto รวมถึงดาราเกย์หนุ่มมาแรงอย่าง Matt Bomer นั่นจึงเท่ากับเป็นการประกาศตนให้โลกได้รับรู้สถานะความเป็นเกย์ของนักแสดงคนอื่นไปในตัวด้วย ซึ่งถือว่ากล้าหาญไม่น้อย แม้ว่าวงการแสดงในฮอลลีวูดยุคนี้จะเปิดกว้างในเรื่องเพศแล้วก็ตามที แต่กับบางคนอาจจะทำให้อาชีพต้องมีปัญหาได้เช่นกัน
ตัวภาพยนตร์มีการนำเสนอชีวิตของชาวเกย์ ผ่านทางบทสนทนาจิกกัดกันเองของเพื่อนเกย์ในระหว่างปาร์ตี้วันเกิด มีตั้งแต่ความกังวลในเรื่องการใช้ชีวิตที่อายุมากขึ้น การเปิดเผยตัวตนของคนที่ต้องแต่งงานกับผู้หญิงเพื่อบังหน้า คนที่มีอาชีพโดดเด่นในวงการบันเทิงแต่ไม่สามารถเปิดเผยตัวเองได้ ไปจนถึงคนที่ไม่กล้ายอมรับตัวตนของตนเอง
ซึ่งบรรดาตัวละครเกย์ในหนัง ก็ถูกเปิดเผยว่าเป็นการถอดแบบมาจากเพื่อนๆที่มีตัวตนจริงของทางผู้เขียนบทดั้งเดิมอย่าง Mart Crowley โดยเฉพาะตัวละคร ฮาโรลด์ หนึ่งในตัวนำของเรื่องและเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เพื่อนๆมารวมตัวกันเพื่อจัดงานวันเกิดให้ เป็นบุคคลที่มีชีวิตอยู่จริงในวงการแสดงฮอลลีวูดในฐานะนักเต้นมากฝีมือ ซึ่งยุคนั้นความสามารถในการเต้น มีบทบาทสำคัญไม่น้อยในการเข้าวงการ เพราะหนังหลายเรื่องมีลักษณะของหนังเพลงอยู่ ตัวละครนี้จึงมีกลักษณะการพูดจาที่ค่อนข้างเข้าใจยาก เต็มไปด้วยภาษาแบบบทกวี ติสต์แตก จนดูแล้วออกจะน่ารำคาญไปสักหน่อย
ด้านตัวเอกในเรื่อง ที่นำแสดงโดย Jim Parson ที่รับบท ไมเคิล ก็เป็นเสมือนตัวแทนคนเขียนบทอย่าง Mart Crowley เช่นกัน แล้วก็ถือว่าการแสดงของ Parson ยังคงยอดเยี่ยม ทักษะการแสดงและการพูดแบบยาวๆน้ำไหลไฟดับ ซึ่งแฟนคลับของเจ้าตัวจากซีรีส์ The Big Bang Theory คงจะคุ้นชินกันมา
แต่ข้อเสียของหนังก็มีมากเหลือเกิน เพราะนี่ไม่ใช่หนังสำหรับคนดูวงนอกที่ไม่ใช่ชาวเกย์เลย ตัวหนังใช้เวลาในการปูเรื่องและให้ตัวเอกอย่างไมเคิลพร่ำบ่นเรื่องชีวิตกับคู่รักเกย์หนุ่มอย่าง โดนัลด์ ที่ได้ Matt Bomer นำแสดง ซึ่งส่วนนี้ใช้เวลานานเกินไปในช่วงแรก อีกทั้งช่วงที่รวมตัวละครเกย์ได้ครบทั้ง 9 ซึ่งถือว่าเป็นจุดที่เรื่องราวเริ่มต้นจริงๆนั้น ก็ต้องใช้เวลาเกือบชั่วโมงของภาพยนตร์ หลังจากนั้นตัวหนังทั้งเรื่องก็เต็มไปด้วยบทสนทนาในแบบ “ภาษาเกย์” ที่คนดูชาวเกย์อาจจะอินเอามากๆ แต่มันเป็นเรื่องยากสำหรับคนดูกลุ่มอื่นๆ
อีกทั้งกว่าตัวหนังจะเข้าจุดไคลแมกซ์ก็ใช้เวลานานมากนั่นคือในช่วง 20 นาทีสุดท้ายของเรื่องราวที่ความขัดแย้งปะทุขึ้นในกลุ่มเพื่อน จากการเล่นเกมโทรศัพท์หากันเพื่อเปิดความในใจ กลายเป็นชนวนดราม่า ที่ทำให้ปาร์ตี้จบลง จากนั้นเหล่าเพื่อนก็แยกย้ายกันไปตามแต่ละคน
ข้อเสียอีกจุดที่นาเสียดายอย่างมากถึงมากที่สุดก็คือ การที่ได้นักแสดงฝีมือระดับ Zachary Quinto มาร่วมแสดงนำ ซึ่งเขาสร้างความประทับใจให้คนดูไว้มากในบท สป็อค จาก Star Trek แต่หนังเรื่องนี้แม้ว่าเขาจะได้บทตัวนำคนหนึ่งในเรื่องอย่างฮาโรลด์ แต่บทนี้กลับไม่ได้ทำให้เขาระเบิดพลังการแสดงออกมาได้ดีอย่างที่ควรเป็น คือเรียกว่าอยู่ในระดับเสมอตัว
อันที่จริงแล้ว ตัวหนังแฝงประเด็นที่ชวนให้คิดเกี่ยวกับปมปัญหาของชาวเกย์ LGBT เอาไว้เยอะมาก แต่ด้วยความที่มันเป็นหนังในลักษณะละครเวทีในแง่ที่ “จับผู้คนมารวมตัวในที่เดียว” ไม่ได้โยกย้ายไปสถานที่อื่น แถมทั้งเรื่องมันคือการดราม่าของเพื่อนชาวเกย์ที่ก็อาจจะทำให้คนดูหนังหลายคนพร้อมจะเทหนังเรื่องนี้ไปอย่างง่ายๆเหมือนกัน
ในส่วนของฉากเลิฟซีนชาวเกย์ ตัวหนังมีฉากถึงเนื้อตัวอยู่เล็กน้อย และมีในช่วงท้ายเพียงนิดเดียว เรียกว่าไม่ใช่สาระหลักของตัวหนังเท่าไหร่นัก
ภาพรวมแล้ว นี่คือหนังที่สร้างและแสดงโดยชาวเกย์ เพื่อชาวเกย์ แฝงสาระบางอย่างที่เฉพาะกลุ่มเอามากๆ แต่หากท่านไม่ใช่ชาวเกย์แล้ว ข้ามหนังเรื่องนี้ไปเลยก็ได้
ติดตามบทความทั้งหมดของผู้เขียนคลิกที่นี่
Reference