รีวิว The Prom (Netflix) หนังมิวสิคคอลเพื่อชาว LGBT ที่เรียกร้องให้คนในครอบครัวพูดคุยกัน
The Prom
สรุป
หนังกึ่งมิวสิคคอลของ Netflix โดย ไรอัน เมอร์ฟี่ เรียกร้องสิทธิและเปิดเผยตัวตนของชาว LGBT เป็นหนังตามสูตรที่พูดเรื่องความสัมพันธ์ครอบครัวได้น่าสนใจ แต่ตัวหนังเฉพาะกลุ่มเกินไปหน่อย
Overall
6/10User Review
( vote)Pros
- ทีมนักแสดงหลักทำหน้าที่ได้ดี
- เล่นเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัวในตอนท้ายดีมาก
- ไม่ได้ยัดเยียดให้คนดูต้องเปิดใจกับ LGBT เสมอไป
Cons
- เป็นหนังตามสูตรที่ไม่ค่อยสนุกเท่าไหร่
- เป็นหนังเฉพาะกลุ่มเกินไปหน่อย
- บทบางตัวละครเหมือนพยายามยัดเข้ามามากไปหน่อย
- ใช้นิโคล คิดแมน ไม่คุ้มเลย
The Prom Netflix รีวิว หนังมิวสิคคอล งานพรอม ที่เต็มไปด้วยแสงสีเสียง ฉูดฉาด ตระการตา เอาใจคน LGBT โดยผู้กำกับ ไรอัน เมอร์ฟี่ ที่มีผลงานจาก Glee
ตัวหนังเป็นการเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและความหลากหลายทางเพศ รวมถึงแฝงการจิกกัดสังคมอเมริกัน ใส่ความดราม่าปนตลกแบบมิวสิคคอล ซึ่งแทบจะเป็นลายเซ็นต์ของผู้กำกับรายนี้ไปแล้วแทบทุกเรื่อง และทำได้ดีในการเรียกร้องให้คนในครอบครัวหันมาพูดจากัน
หนังมีความยาว 2 ชม. 10 นาที ฉายแล้วใน Netflix
ตัวอย่าง The Prom Netflix Trailer
The Prom Netflix เรื่องย่อ
เรื่องราวสุดวุ่นวายนี้เริ่มขึ้น เมื่อโรงเรียนมัธยมปลายแห่งหนึ่งในในอินเดียนนา ได้มีแผนที่จะสั่งยกเลิก “งานพรอม” ซึ่งถือว่าเป็นงานเลี้ยงส่งท้ายจบการศึกษาระดับไฮสคูลที่จะจัดกันในทุกโรงเรียนของสหรัฐ และถือว่าเป็นงานสำคัญครั้งสุดท้ายที่เหล่าหนุ่มๆสาวๆจะได้โอกาสร่วมปาร์ตี้อย่างสุดเหวี่ยง พร้อมโชว์ความเริดหรูอลังการ นี่จึงเป็นงานที่นักเรียนไฮสคูลในสหรัฐทุกแห่งตั้งเป้าจะเฉดฉายให้ได้สักครั้ง แต่แล้วงานของโรงเรียนแห่งหนึ่งกลับถูกให้ยกเลิกโดยสมาคมครูและผู้ปกครอง เพราะสาเหตุจากการแอนตี้ เอ็มม่า สาวน้อยที่เปิดตัวว่าเป็นเลสเปี้ยนและจะพาแฟนสาวมาในงานพรอม
แต่ทางครูใหญ่ก็ไม่เห็นด้วย จึงทำให้ต้องมีการถกเถียงอีกครั้ง แล้วเรื่องก็กลายเป็นข่าวใหญ่ ในขณะเดียวกัน อดีตสตาร์ดังของวงการบอรดเวย์สี่คน ที่เป็นนักร้อง นักแสดง นักเต้น นักแต่งเพลง ที่เป็นพวกหลงตัวเองสุดขั้ว ก็ทราบข่าวเรื่องการยกเลิกงานพรอม พวกเขาจึงเห็นเป็นโอกาสที่จะพาพวกตนเองมาเป็นจุดสนใจอีกครั้ง รวมถึงพวกเขาต่างก็อยากมาช่วยเป็นกำลังใจให้เอ็มม่าเพื่อต่อสู้เรียกร้องสิทธิในฐานะคนหลากหลายทางเพศ และการวางกลยุทธ์เพื่อหาทางให้นำงานพรอมกลับมา
The Prom Netflix รีวิว
นี่คือหนังที่เป็นส่วนผสมของอะไรหลายอย่างเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นหนังวัยรุ่น หนังรัก หนัง LGBT แต่ด้วยความที่หนังเป็นสไตล์มิวสิคคอลที่ต้องอาศัยความสามารถในการแสดงแบบเล่นใหญ่ในหลายฉาก จึงใช้นักแสดงรุ่นใหญ่มาเป็นเมนหลักในการเล่นบทมิวสิคคอลด้วย ซึ่งก็ถือว่าทำได้ดีมาก โดยเฉพาะ เมอร์รีล สตรีฟ และ เจมส์ คอร์เดน ที่จัดหนักจัดเต็มทั้งการร้องและการเต้น หรือแม้กระทั่ง นิโคล คิดแมน ที่ก็มาปล่อยของเอาในช่วงกลางเรื่องได้แบบเซอร์ไพร์สเหมือนกัน
ในส่วนของรุ่นเล็ก ต้องยอมรับว่าสองนักแสดงสาวอย่าง โจเอลเลน เอลแมน และ เอเรียอาน่า เดอโบส ก็ทำได้ดีกว่าที่คาดคิด โดยเฉพาะเคมีเวลาเข้าคู่กัน ที่ก็ทำให้ดูแล้วพอจะเชื่อได้ว่านี่คือคู่รัก LGBT แบบลับๆ ดังนั้นในแง่ของนักแสดง นี่คือจุดเด่นที่สุดของหนัง รวมถึงฉากมิวสิคคอลที่น่าจะจับใจชาว LGBT ไม่น้อย ทั้งฉาก แสงสีเสียง ไดอาล็อค และเนื้อหาในเพลงต่างๆ ที่ต้องการเรียกร้องสิทธิและการแสดงออกของชาว LGBT ในสังคมอเมริกัน ให้ได้รับการยอมรับมากขึ้น
แต่จุดด้อยที่ต้องยอมรับ ก็คือมันเป็นหนังกึ่งเพลงที่มีความเฉพาะกลุ่มมาก แม้ว่าตัวหนังจะมีความพยายามทำให้มันเป็น Mass เพื่อจับตลาดคนดูวงกว้าง ไม่ใช่แค่ LGBT ทั่วไป แต่ยังพยายามจับกลุ่มคนดูผิวสีด้วย แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้หนังเรื่องนี้หลุดไปจากสไตล์ของหนังแนว LGBT ทั่วไปที่ก็ยังวนเวียนอยู่กับการเรียกร้องสิทธิในการแสดงออกของคนกลุ่มนี้ ซึ่งนี่ก็เป็นแนวของผู้กำกับ ไรอัน เมอร์ฟี่ ที่แทบจะเป็นลายเซ็นของผู้กำกับคนนี้ไปแล้วด้วย
แล้วอีกจุดหนึ่งที่ อาจจะเป็นจุดด้อยสำหรับคนดูหลายคนคือบทของ เจมส์ คอร์เดน ที่เราจะพบเห็นบทลักษณะนี้ได้บ่อยมากในหนังที่มีกระเทยร่างใหญ่ในไทย ซึ่งบทก็ไม่ได้มีอะไรฉีกไปจากกระเทยร่างใหญ่ที่เราเห็นกัน แม้ว่าที่จริงการแสดงของเขาก็ไม่ได้แย่อะไร เพราะเขาทำได้ดีทั้งการร้องและเต้น เรียกว่าเป็นมาตรฐานพอสมควร แล้วบทของ นิโคล คิดแมน ที่ดูเสียของไปนิด คือไม่จำเป็นต้องใช้ดาราระดับนี้มาแสดงในบทนี้ก็ได้ แม้ว่าเธอจะได้โชว์ของบ้างในช่วงกลางเรื่อง
สำหรับในช่วงท้ายของหนังถือว่าทำได้ดีมาก แม้ว่าบทมันจะน้ำเน่าเกินไปหน่อยตามสูตรของหนัง แต่ก็ยังทำได้ดีเกินคาด นั่นคือบทความสัมพันธ์ของแม่ลูก ซึ่งเอาเข้าจริงดูเหมือนว่าส่วนนี้กลับทำได้น่าประทับใจยิ่งกว่าคู่รัก LGBT ในเรื่องซะอีก แล้วตัวเรื่องก็ไม่ได้พยายามนำเสนอว่า คนที่แอนตี้หรือไม่เข้าใจคนหลากหลายทางเพศคือพวกหัวโบราณ แต่ทุกคนมีเหตุผลของตนเอง และเป็นเรื่องธรรมดาที่พ่อแม่ต่างก็ไม่อยากให้ลูกตนเองต้องเจอชีวิตที่ยากลำบาก หากลูกๆต้องเปิดเผยตัวเองออกมาต่อสังคม เรียกว่าบทแม่ลูกในช่วงท้ายแม้จะใช้เวลาค่อนข้างสั้น แต่กลับทำอารมณ์ได้ถึง และยังเป็นความพยายามบอกให้ทุกฝ่ายหันมาพูดจากัน อาจจะไม่ต้องเข้าใจกันทันที แต่ต้องคุยกัน แบบที่ตัวละครหลักทำกันไว้ในตอนจบของเรื่อง
สรุปแล้ว นี่เป็นหนังมิวสิคคอล หนังกึ่งเพลงของ Netflix ที่ทำมาเพื่อเรียกร้องสิทธิและการเปิดเผยตัวตนของชาว LGBT แม้จะเป็นหนังตามสูตร แต่ก็เป็นหนังดราม่าฟีลกู้ดที่มากไปกว่าแค่การเล่าเรื่องคู่รัก LGBT แต่พูดเรื่องความสัมพันธ์ครอบครัวได้น่าสนใจด้วย
ติดตามบทความทั้งหมดของผู้เขียนคลิกที่นี่
Reference Website