Spoil!! The Witcher นิยาย vs เกม vs ซีรีส์ ใน Netflix รีวิว เปรียบเทียบตัวละคร
The Witcher
สรุป
The Witcher สร้างจากนิยายดาร์กแฟนตาซีขายดีของ Andrzej Sapkowski นักเขียนชาวโปแลนด์ที่ถูกนำมาดัดแปลงเป็นเกมจนดังไปทั่วโลก เล่าเรื่องราวการผจญภัยของ เกรัลต์ แห่งริเวีย สำหรับในซีรีส์ของ Netflix นับว่าทุ่มทุนสร้างสุดอลังการ ซึ่งอาจกลายเป็นเรือธงใหม่ ไปทาบชั้น Game of Throne ได้ในอนาคต
Overall
9.5/10User Review
( votes)Pros
- โปรดักชั่นจัดเต็ม สุดอลังการ
- นักแสดงนำ เฮนรี่ คาวิลล์ ทำได้ดีกับบทของเกรัลต์
- เนื้อหาดาร์กแฟนตาซี มีฉาก Rate18+ แต่ในภาพรวมแล้วย่อยง่ายกว่า GOT
- ปมปริศนาในเรื่องสนุกและน่าติดตาม ลุ้นให้เอาใจช่วยตัวละคร
- การเดินเรื่องมีจุดหักมุมอยู่บ้าง ตัวละครเป็นสีเทา ไม่มีใครดีหรือร้ายแท้จริง
- ถึงไม่ต้องเล่นเกมหรืออ่านนิยายมาก่อนก็สนุกได้
Cons
- แฟนเกมเรื่องนี้อาจจะขัดใจกับ Casting ของนักแสดงนำบางคน เช่น ทริส
- การเดินเรื่องช่วงแรกอาจจะทำให้คนดูสับสนกับไทม์ไลน์ของเรื่องอยู่บ้าง
The Witcher นิยาย vs เกม vs ซีรีส์ รีวิว เปิดเผยภาพเปรียบเทียบตัวละครใน Netflix และสปอยล์เรื่องราวบางส่วนของสามตัวเอก เกรัลต์ ซิริ แยนเนเฟอร์ ปูทางไปซีซันใหม่
The Witcher นักล่าจอมอสูร ตอนนี้กำลังกลายเป็นซีรีส์แนวดาร์กแฟนตาซีที่ Netflix ทุ่มทุนสร้างสุดอลังการ และก่อนหน้านี้ก็มีการดัดแปลงเป็นสื่อต่างๆโดยเฉพาะเกมที่โด่งดังไปทั่วโลก สำหรับต้นฉบับนิยายมาจากชื่อเดียวกัน โดยที่มาของ The Witcher นิยาย เป็นผลงาน Best-Seller โดย Andrzej Sapkowski นักเขียนชาวโปแลนด์ ซึ่งเขียนเรื่องนี้ไว้ครั้งแรกในปี 1986 โดยเริ่มเขียนเป็นเรื่องสั้นในชื่อ Wiedźmin (The Witcher) เขียนลงในนิตยสาร Fantastyka ของโปแลนด์ ต่อมาจึงได้รวมเล่มเรื่องสั้นเป็นครั้งแรก
ในชุดเรื่องสั้นจะบอกเล่าเรื่องราวของ เกรัลต์ แห่งริเวีย ในฐานะ The Witcher รวมถึงตัวละครที่เป็นนางเอกหลักของเรื่องคือ แยนเนเฟอร์ แห่งแวนเกอร์เบิร์ก

หลังจากนั้นในปี 1993 ก็ได้เขียนชุด The Witcher Saga ซึ่งเพิ่มตัวละครสำคัญคือ ซิริ เจ้าหญิงแห่งประเทศซินทรา ซึ่งกลายมาเป็นวิทเชอร์ฝึกหัดที่เกรัลต์จะต้องคอยปกป้องดูแล โดยชุดนี้มีทั้งหมด 5 เล่มจบ นอกจากนี้ยังมีผลงาน Spin-Off เล่มอื่นอีกด้วย
ต่อมา ยังมีการดัดแปลงเรื่องนี้ออกไปเป็นการ์ตูนคอมิค ภาพยนตร์ ละครทีวี แต่ที่ประสบควาสำเร็จสุดขีดเห็นจะไม่พ้นเวอร์ชั่นเกม ซึ่งถูกพัฒนาโดยบริษัท CD Projekt Red วางขายเกมภาคแรกในปี 2007 แล้วก็ประสบความสำเร็จอย่างสูงมาก ได้รับคำชื่นชมจากคอเกมในโลกตะวันตก จากนั้นจึงมีภาคต่อออกมาจนถึงภาค 3
สำหรับแฟนๆเรื่องนี้ในเมืองไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่ารู้จักเรื่องนี้จากเวอร์ชั่นเกมเป็นหลักครับ เพราะฉบับนิยายก็ไม่ได้มีการนำมาแปลไทยแบบถูกลิขสิทธิ์ (แต่หลังจากซีรีส์ดังระเบิดแบบนี้ น่าจะได้นำเข้ามาแปลแน่ๆ)
ทีนี้คำถามสำคัญคือ แล้วแต่ละเวอร์ชั่นมันแตกต่างกันขนาดไหน โดยเฉพาะคนไทยที่เป็นแฟนเรื่องนี้จะรู้จักจากเวอร์ชั่นเกมเป็นหลัก แต่ในขณะที่ตัวซีรีส์ของ Netflix จะสร้างโดยยึดต้นฉบับนิยาย ลองมาดูกันว่ามีอะไรบ้างที่ควรทราบ

The Witcher นิยาย เรื่องย่อ
ในโลก The Continent ที่เต็มไปด้วยเผ่าพันธุ์ที่หลากหลาย สงครามระหว่างแคว้น การชิงอำนาจ เวทมนต์ เอลฟ์ สัตว์ประหลาด อำนาจวิเศษ สมาคมจอมเวทย์ คำสาปชั่วร้าย การนองเลือด และสิ่งมหัศจรรย์เหนือจินตนาการทั้งหลาย
แต่ยังมีอีกสิ่งหนึ่งในบรรดาสิ่งที่หลุดออกมาจากเรื่องเล่าในนิทานโบราณเหล่านั้นก็คือ The Witcher เผ่าพันธุ์พิเศษที่มีการกลายพันธุ์ออกมา พวกเขามีความเชี่ยวชาญในการต่อสู้ การปราบสัตว์ประหลาด ใช้วิชาเวทมนต์
ซึ่งหนึ่งใน The Witcher ที่มีชื่อเสียงโด่งดังก็คือ เกรัลต์ แห่งริเวีย (Geralt of Rivia) เดอะวิทเชอร์ผู้มีทักษะในการต่อสู้และวิชาดาบที่เยี่ยมยอด รวมถึงมีทักษะและความชำนาญในการตามล่าและจัดการกับสัตว์ประหลาดไปจนถึงการใช้เวทมนต์ได้ระดับหนึ่ง
โดยในเรื่องนั้น เกรัลต์ถือว่าเป็นหนึ่งในวิทเชอร์ที่สามารถปรับตัวเองเข้ากับสังคมมนุษย์ด้วยการทำงานรับจ้างและทำภารกิจต่างๆ
แต่เรื่องราวยังเล่าอีกมุมหนึ่งเกี่ยวกับชะตากรรมของอีกตัวละครหญิงที่เป็นตัวเอกอีกสองคนคือ แยนเนเฟอร์ และ ซิริ ซึ่งสุดท้ายแล้ว ทั้งสามตัวละครจะมีโชคชะตาที่จะต้องมาบรรจบและร่วมทางกันเพื่อบรรลุเป้าหมายของตนได้หรือไม่ ต้องรอติดตามใน The Witcher
นอกจากนี้จุดเด่นอย่างหนึ่งของเรื่องนี้คือ การนำแฟนตาซีสไตล์เทพนิยายมาใส่ความ ดาร์ก ดิบ เถื่อน เข้าใน ซึ่งถ้าใครได้ดูแล้วอาจจะรู้สึกได้ถึงกลิ่นอายของ สโนไวท์ ซินเดอเรลล่า เจ้าหญิงนิทรา โฆมงามเจ้าชายอสูร อะลาดิน ฯลฯ แต่ทั้งหมดถูกนำมาเล่าใหม่แบบผสมผสานด้วยความดาร์กครับ
The Witcher นิยาย และ ซีรีส์ ตัวละครหลักและความสัมพันธ์

เกรัลต์ แห่งริเวีย หนึ่งในวิทเชอร์ที่มีชื่อเสียงโดดเด่น ฉายา The Butcher of Blaviken มีทักษะในด้านการต่อสู้และวิชาดาบระดับสูง และยังสามารถใช้ Sign ซึ่งเป็นเวทมนต์เฉพาะตัวของพวกวิทเชอร์ได้ในระดับหนึ่ง เกรัลต์ได้ผ่านการฝึกฝนวิชาต่อสู้และการตามล่าสังหารสัตว์ประหลาด มีความชำนาญทั้งด้านการแกะรอย การดมกลิ่น ประสาทสัมผัสที่เหนือกว่ามนุษย์
สำหรับวิทเชอร์นั้น เป็นสิ่งมีชีวิตกลายพันธุ์จากมนุษย์ แม้ว่าจะทำให้มีความสามารถและพลังที่เหนือกว่าแต่ก็มีจำนวนน้อยมาก อีกทั้งยังเป็นหมัน ไม่สามารถมีบุตรได้ เกรัลต์เองก็ใช้ชีวิตด้วยการออกเดินทางและรับทำภารกิจปราบสัตว์ประหลาดไปทั่วดินแดนต่างๆซึ่งบางครั้งเขาต้องถูกดึงเข้าไปพัวพันกับเรื่องราวความขัดแย้งในชุมชนหรือการชิงอำนาจในประเทศนั้นๆ โดยปกติแล้วเกรัลต์จะรักษาความเป็นกลางซึ่งเป็นจุดยืนหลักของวิทเชอร์ แต่หลายครั้งเขาก็เลือกที่จะเผชิญหน้ากับความอยุติธรรมและสิ่งที่เขารู้สึกว่าขัดกับมโนธรรมขั้นพื้นฐานของตนเอง แต่บางครั้งเขาก็พบว่ามนุษย์นี่เองคือสิ่งที่ชั่วร้ายยิ่งกว่าปีศาจเสียอีก
ซึ่งในแต่ละภารกิจและแต่ละเหตุการณ์ที่เกรัลต์เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยนั้น เขามักต้องเลือกว่า จะเลือกทำอะไรและจะเข้าข้างฝ่ายไหน ตามสิ่งที่ตัวเกรัลต์พูดถึงเองในเรื่องว่า สิ่งที่ชั่วร้ายน้อยกว่า
สำหรับเรื่องราวจะดำเนินไปโดยมีเกรัลต์เป็นตัวละครนำ แต่ก็จะมีอีกสองตัวละครเอกสำคัญคือ แยนเนเฟอร์ แม่มดหญิงผู้มีความสัมพันธ์กับเกรัลต์ และ ซิริ เจ้าหญิงน้อยผู้มีชะตาที่จะต้องเกี่ยวโยงผูกพันกับเกรัลต์
สุดท้ายแล้วคงต้องรอติดตามว่าในซีรีส์จะดำเนินเรื่องราวในซีซันถัดไปอย่างไร ซึ่งหากอ้างอิงจากนิยายต้นฉบับ และเรตติ้งประสบความสำเร็จ (ซึ่งเท่าที่ดูก็น่าจะทำได้) คาดว่าเรื่องราวน่าจะสร้างต่อไปได้ถึงประมาณ 6-7 ซีซัน ครอบคลุมนิยาย 5 เล่มหลักได้ครบเลยครับ
แยนเนเฟอร์ แม่มดสาวผู้มีสายเลือดเอล์ฟ แต่เนื่องจากต้องคำสาปทำให้มีหน้าตาและรูปร่างอัปลักษณ์ เธอมีความปรารถนาจะได้มาซึ่งพลังอำนาจเวทมนต์อันแข็งแกร่งเพื่อกรุยเส้นทางแห่งชะตาของตัวเอง ซึ่งก็ทำให้เธอต้องกลายเป็นหมัน
ในฉบับนิยายและเกม ถือได้ว่าแยนเนเฟอร์เป็นหนึ่งในนางเอกคนของเรื่องที่จะได้อยู่คู่กับเกรัลต์ ต้องรอดูว่าในซีรีส์ซึ่งผู้สร้างอ้างอิงว่ายึดจากฉบับนิยายจะเดินเรื่องไปถึงจุดไหน
ซิริ เจ้าหญิงแห่งอาณาจักรที่ล่มสลาย แท้จริงแล้วเธอมีพลังเวทมนต์ที่แอบแฝงเร้นอยู่ เธอต้องออกตามหาเกรัลต์ตามคำสั่งเสียสุดท้ายของราชินี ผู้เป็นยายของเธอเอง รวมถึงค้นหาเบื้องหลังที่ทำให้นิล์ฟการ์ดรุกรานประเทศของเธอไปด้วย
ในฉบับนิยายและเกม ซิริมีความรักและผูกพันกับเกรัลต์เสมือนพ่อและอาจารย์ ซึ่งในซีรีส์จะเป็นการเล่าเรื่องราวของเธอในตอนที่ยังเป็นเด็กสาวแรกรุ่น ก่อนที่จะมาพบกับเกรัลต์

The Witcher นิยาย vs เกม vs ซีรีส์ เปรียบเทียบตัวละคร
มาลองดูว่า ทั้งสามเวอร์ชั่นหลัก มีความแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน ซึ่งในฉบับซีรีส์ของ Netflix ทางทีมสร้างได้ยึดเอาตันฉบับนิยายเป็นหลักไว้ ในขณะที่เวอร์ชั่นเกมที่สร้างออกมาได้โด่งดังทั้ง 3 ภาค ก็มีการดัดแปลงบางส่วนจากนิยายไปพอสมควรเหมือนกัน ดังนั้นผู้ชมซีรีส์ของ Netflix แล้วอาจจะพบว่าตัวละครหลายคนมีจุดแตกต่างจากภาพในเกมพอสมควร โดยเฉพาะรูปลักษณ์ตัวละครบางคนที่คอเกมอาจจะคาดหวังไว้อีกแบบ ซึ่งก็กลายเป็นดราม่าทางโซเชียลในระดับหนึ่ง
แต่สำหรับคนที่อยากรู้ว่า จริงๆแล้วเวอร์ชั่นเกมกับซีรีส์ อันไหนที่ทำมาตรงหรือใกล้เคียงกับต้นฉบับนิยายมากกว่ากัน ลองดูภาพจากที่ผู้เขียนนิยายได้บรรยายเอาไว้แล้วเทียบกันดูครับ
ภาพจากซ้ายไปขวา ซีรีส์ – นิยาย – เกม
เกรัลต์
ว่าตามตรง ในนิยายต้นฉบับสร้างภาพของเกรัลต์ออกมาดูดิบเถื่อน และไม่ใช่ชายหน้าตาดีอะไรนัก แต่ในเกมสร้างภาพของเขาให้ดูเป็นชายวัยกลางคนสุดเท่ และเพิ่มหนวดเคราให้ ส่วนฉบับซีรีส์เลือกเก็บข้อเด่นของทั้งสองฝั่งเอาไว้ แต่ลบเคราของฉบับเกมออก

แยนเนเฟอร์
ไม่ได้แตกต่างมากนักในแง่บุคลิก แต่ซีรีส์จะเน้นเรื่องราวเบื้องลึกของแยนเนเฟอร์ลงไปอีก ทำให้คนดูน่าจะลุ้นและเอาใจช่วยตัวละครนี้มากขึ้น
ซิริ
ต้องยอมรับว่าเป็นอีกคนที่ในนิยายต้นฉบับบรรยายไว้ดูดิบเถื่อน และมีความก้าวร้าวอันตราย มีลักษณะเหมือนผู้ชาย ส่วนในเกมลดความเถื่อนลง ปรับให้เป็นผู้หญิงสาวน่ารักมากขึ้น ส่วนในซีรีส์คงต้องรอดูว่าแล้วจะมีการนำรอยแผลเป็นมาใส่ในอนาคตไหม
ทริส
หนึ่งในตัวละครที่เกมขยายภาพจากนิยายแล้วประสบความสำเร็จมาก เรียกว่าดังจนกลายเป็นสาวเซ็กซี่ทรงเสน่ห์ไปเลย ส่วนในซีรีส์นั้นยึดตามต้นฉบับในแง่บทที่เป็นสาวตัวรอง ไม่ใช่ตัวเอก เพียงแต่ในแง่รูปลักษณ์ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมถึงปรับจากสาวผมแดงมาเป็นผมน้ำตาล
แจสเคียร์ (แดนดิเลียน)
ก็ถือว่าเป็นการแคสติ้งได้ดี ไม่ได้มีจุดที่น่าติงอะไรครับสำหรับแจสเคียร์
ฟรินจิลลา
อีกหนึ่งของการปรับบทของซีรีส์จากอเมริกาที่เหมือนเป็นภาคบังคับไปแล้วว่า “ต้องมีคนผิวสี” ทั้งที่ต้นฉบับฟิรนจิลลาไม่ใช่แบบนั้น ถ้าปรับจริงๆเลือกคนเอเชียยังดูเข้ากว่า
คาเฮียร์ (ไม่ปรากฏตัวในเกม)
ยังตอบอะไรมากไม่ได้ เพราะบทในเรื่องก็ยังไม่เยอะ แต่ก็ถือว่าเป็นการแคสติ้งที่ดีครับ

The Witcher นิยาย vs เกม สปอยล์รวมจุดแตกต่างที่สำคัญ
ประเด็นนี้สำคัญมากครับ เนื่องจาก Andrzej Sapkowski ผู้เขียนนิยายต้นฉบับก็ไม่ได้เห็นด้วยกับผู้พัฒนาเวอร์ชั่นเกมไปทั้งหมด แต่ตัวเกมกลับประสบความสำเร็จถล่มทลาย ในขณะที่ตัวซีรีส์ของ Netflix จะยึดต้นฉบับนิยายเป็นหลัก
ในเวอร์ชั่นเกมนั้น ทางทีมสร้างมีการดัดแปลงหลายอย่างให้แตกต่างเพื่อขายเกมและการตลาด แม้แต่ผู้ให้กำเนิดเรื่องราวอย่าง Sapkowski ก็เคยให้สัมภาษณ์ว่า ความสำเร็จเกินคาดของเกมกลับทำร้ายตัวนิยาย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เกมมีส่วนอย่างมากที่ทำให้นิยายเรื่องนี้โด่งดังในวงกว้าง แม้ว่าตัวนิยายเองจะโด่งดังและมีการแปลออกไปหลายภาษาทั่วโลกอยู่ก่อนแล้วก็ตาม แต่ฉบับเกมกลับช่วยสร้างภาพลักษณ์บางอย่างให้กับตัวละครที่อาจจะแตกต่างไปจากต้นฉบับนิยายไม่น้อย
มาลองดูกันว่ามีอะไรบ้างครับ

เกรัลต์ คาแรคเตอร์แบบไหนตรงนิยายมากกว่า เกมหรือซีรีส์
นับว่าในซีรีส์ได้ทำให้เกรัลต์เป็นตัวละครที่มีรูปลักษณ์ใกล้เคียงต้นฉบับนิยายมากที่สุด แต่ก็เก็บจุดเด่นบางอย่างจากในเกมมาผสมผสานไว้ได้ลงตัวด้วย ถือได้ว่าเป็นการเข้ามารับบทนำที่ดีสำหรับ เฮนรี่ คาวิลล์ ผู้รับบทซุปเปอร์แมน (ซึ่งเจ้าตัวเคยให้สัมภาษณ์ว่านี่เป็นบทในฝัน)
แต่มีจุดหนึ่งที่เกรัลต์ในนิยายแตกต่างแบบคนละเรื่องจากเกมก็คือ เกรัลต์ในนิยายต้นฉบับไม่ใช่คนหน้าตาดีอะไรนัก ตามที่มีบรรยายไว้คร่าวๆคือเป็นคนท่าทางดิบเถื่อน แถมยังไม่มีหนวดเคราด้วย แต่ในเกมได้สร้างให้เกรัลต์กลายเป็นนักดาบวัยกลางคนไว้เคราสุดเท่ โคตรเท่ รอยยิ้มที่มีเสน่ห์ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าในนิยายเฮียแกไม่หล่อแล้วจะไม่เร้าใจ เพราะจุดหนึ่งที่คล้ายกันคือ ความมีเสน่ห์ดึงดูดทางเพศสูง ในขณะที่รอยแผลบนใบหน้านั้นเวอร์ชั่นเกมก็ทำได้ใกล้เคียงตามที่บรรยายไว้
อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมของนิยาย ไม่ได้มีการกำหนดรูปลักษณ์ในภาพรวมของเกรัลต์ไว้ชัดเจนมากนัก ซึ่งตรงนี้ทีมสร้างเกมกลับตีโจทย์ได้ดีจนตัวละครโด่งดัง ในขณะที่ซีรีส์เลือกจะเก็บลักษณะเด่นจากในนิยายและในเกมมาผสมผสานกัน ตัดเคราออกเพื่อให้ตรงนิยาย ด้านบุคลิกนิสัย ในนิยายเป็นคนที่ขี้หงุดหงิดและใช้อารมณ์มากกว่า ในขณะที่ฉบับเกมก็ต้องเข้าใจว่าเราเล่นผ่านตัวละคร จึงใช้วัดไม่ได้ ส่วนในซีรีส์บุคลิกนิสัยถูกปรับให้มีความสมดุลย์ มีสติ รู้จักยับยั้งชั่งใจ
อีกจุดหนึ่งที่อาจจะเป็นประเด็นถกเถียงคือ ตราหมาป่าประจำตัวของเกรัลต์ ซึ่งในซีรีส์ทำออกมาแตกต่างจากเกมทั้ง 3 ภาคอย่างมาก ซึ่งต้องบอกว่าในต้นฉบับนิยายก็ไม่ได้กำหนดรูปลักษณ์ของเหรียญตราหมาป่าไว้ชัดเจนครับ เพราะฉะนั้นจะแบบไหนก็ตามแต่ทีมสร้าง
ในภาพรวมแล้ว เกมสร้างภาพของเกรัลต์ให้ออกมาเป็นนักดาบวัยกลางคนสุดเท่ ก็เพื่อผลทางการตลาดให้ขายได้ในวงกว้าง ซึ่งถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ดีครับ ส่วนในซีรีส์เลือกจะเก็บลักษณะเด่นจากในนิยายต้นฉบับและในเกมเอาไว้ผสมผสานกัน ซึ่งก็ออกมาได้น่าประทับใจ หลังจากดู 1 ซีซันแรกจบไปแล้ว

ซิริ คาแรคเตอร์และรูปลักษณ์
ก่อนอื่นต้องบอกว่า ในนิยายต้นฉบับ ไม่ได้บรรยายรูปลักษณ์ของซิริไว้ละเอียดมากนัก นอกเหนือจากลักษณะเด่นของใบหน้าและการแสดงออกบางอย่าง เช่น ผมสีเทาออกซีด ดวงตาสีเขียวมรกต กับลักษณะท่าทางอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นท่าทางที่เหมือนเด็กผู้ชาย กับดวงตาที่แฝงถึงความโกรธเกลียด และที่สำคัญคือ ใบหน้าของเธอมีรอยแผลที่เด่นชัดอยู่บนแก้ม

จุดที่ซิริจะต่างจากเกมคือลักษณะนิสัยบางอย่างที่ในต้นฉบับ “ดูก้าวร้าวอันตราย” มากกว่าในเวอร์ชั่นเกม ส่วนในซีรีส์เองก็ดูเหมือนว่าอาจจะไม่ทำให้ซิริดูดุดันขนาดนั้นก็เป็นได้ (แต่ก็ไม่แน่ ให้ลองนึกภาพสาวน้อยอาร์ยาจากใน GOT แต่ซิริดุกว่านั้น) นอกจากนี้ในนิยายก็ยังย้ำเรื่องที่ซิริฝึกฝนวิชาของวิทเชอร์ทำให้มีรูปร่างเพรียวและคล่องตัวสูง ตรงนี้ไม่รู้ว่าตัวนักแสดงในซีรีส์เองจะทำได้ดีขนาดไหน
และในนิยายนั้น เกรัลต์พบกับซิริตอนอายุประมาณ 8-9 ปี
แยนเนเฟอร์ นางเอกตัวจริงของเกรัลต์
ต้องบอกว่าในนิยาย แยนเนเฟอร์ คือนางเอกตัวจริงที่ได้เคียงคู่กับเกรัลต์ ในขณะที่ ซิริ คือตัวเอกหญิงที่เป็นตัวละครเอกอีกคน แต่ในทางกลับกัน เวอร์ชั่นเกมแยนเนเฟอร์จะมีบทบาทในเกมเพียงแค่ เกมภาค 3 Wild Hunt เท่านั้น
ในนิยายยังบรรยายถึงแยนเนเฟอร์ว่าเป็นสาวผมดำที่เป็นหญิงงามเด่นล้ำ ส่วนในเวอร์ชั่นเกมยิ่งทำให้แยนเนเฟอร์ดูสวยสาวโดดเด่นขึ้นมาอีก
ส่วนเรื่องราวที่มาที่ไปของแยนเนเฟอร์ ในซีรีส์ของ Netflix จะมีการขยายแบบเจาะลึกเพิ่มเติมจากทั้งนิยายและในเกม (ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องราว Official) นอกจากนี้ยังบอกเล่าการพบกันครั้งแรกระหว่างเกรัลต์และแยนเนเฟอร์เอาไว้ด้วย โดยเฉพาะเรื่องราวที่เกรัลต์ไปขอพรจากภูตจินน์เพื่อช่วยชีวิตแยนเนเฟอร์ ทำให้เธอรอดชีวิตมาได้ แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้ทั้งสองคนได้ผูกพันชีวิตกัน ซึ่งแยนเนเฟอร์กลับรู้สึกว่านั่นเป็นผลจากเวทมนต์มากกว่าเป็นความรู้สึกที่แท้จริง
ด้านนักแสดง อันย่า ชาล็อตร้า ที่มารับบท อาจจะดูขัดใจแฟนเกมไปบ้าง แต่ความดราม่าของรูปลักษณ์แยนเนเฟอร์ยังไม่เท่ากับบทของทริส

ทริส ตัวละครรองในนิยาย แต่เป็นหนึ่งในนางเอกของเกมทั้ง 3 ภาค
ในเกม The Witcher ตัวละคร ทริส เมริโกลด์ ถือว่าเป็นนางเอกคนสำคัญของเกม ซึ่งปรากฏตัวออกมาทั้งสามภาค แต่ยังมีรูปลักษณ์โดดเด่น Sex Appeal เต็มพิกัด แฟนเกมทั่วโลกต่างก็ชื่นชอบ
แต่ในนิยาย ทริส กลับไม่ได้มีบทบาทมากขนาดนั้น เธอเป็นเพียงตัวละครรอง ซึ่งมามีบทบาทเด่นเอาในนิยายเล่ม 3 ของทั้งชุดคือภาค Blood of Elves แต่ก็แค่นั้น
ดังนั้นบทบาทของทริสที่จะมาในซีรีส์ จึงเป็นหนึ่งในเรื่องที่เตรียมดราม่าแน่นอนสำหรับแฟนเกม แถมหลังจากซีรีส์เริ่มฉาย ก็มีการออกมาโจมตีและวิจารณ์บทของทริส กับการ Casting ตัวละคร ว่าไม่ตรงกับในเกม ไปจนถึง Bully รูปร่างหน้าตาของนักแสดงในบทนี้ด้วย (แม้ว่าที่จริงทริสในนิยายก็มีผมแดง แต่ก็ไม่ได้แดงสลวยเด่นขนาดในเกม) แต่อันที่จริงแล้วบทบาทของทริสในซีรีส์ของ Netflix ถือว่าใกล้เคียงกับในนิยายในแง่ที่เป็นเพียงตัวละครรองคนหนึ่ง
อีกทั้งในซีรีส์ยังมีบางจุดที่ทำได้คล้ายกับนิยายต้นฉบับ เมื่อทริสมีรอยแผลรุนแรงหลงเหลืออยู่ซึ่งได้มาจากในสงครามอยู่บนหน้าอกของเธอ ซึ่งนั่นทำให้เธอไม่สวมเสื้อผ้าที่เปิดเนินอกอีก แต่ในเกมกลับทำทุกอย่างตรงกันข้าม ถึงแม้ว่าจะมีรอยแผลเป็นแต่ก็แทบจะไม่เห็น
อีกจุดที่แตกต่างใหญ่แบบใหญ่มากๆคือ ในนิยายทริสเป็นคนตรงไปตรงมาพอสมควร แต่ในเกมทริสกลับถึงขั้นมีฉากที่จะยั่วยวนเกรัลต์ด้วย ซึ่งถ้าดูจาก Casting และคาแรคเตอร์ของทริสที่แสดงในซีรีส์แล้ว ก็ไม่น่าจะตรงกับในเกม แต่จะตรงกับนิยายมากกว่า แต่จุดที่นักแสดงทริสก็ไม่ตรงกับนิยายเช่นกันก็คือสีผม ซึ่งในนิยายต้นฉบับเป็นผมสีแดง แต่ในซีรีส์กลับใช้นักแสดงทำผมสีน้ำตาลเสียอย่างนั้น ตรงนี้คงต้องดูว่าจะมีการปรับเปลี่ยนสีผมในซีซันถัดไปหรือไม่

ฉบับซีรีส์ของ Netflix ความน่าดูแค่ไหน
The Witcher ถือว่าเป็นซีรีส์แห่งปีที่ก่อนฉายก็ได้รับความคาดหวังสูงทั้งจากผู้ชมและ Netflix เนื่องจากหนึ่งในนิยายแนวดาร์กแฟนตาซีขายดีของตะวันตกและเป็นเกมดังระดับโลก
แต่สำหรับคนไทยเราและในตลาดโลกรู้จักเรื่องนี้จากเวอร์ชั่นเกมที่ประสบความสำเร็จสูงถล่มทลาย อาจจะเรียกว่าเป็นหนึ่งในเกมภาคบังคับของคนเล่นแนว Action RPG จากตะวันตกเลยก็ว่าได้ โดยตัวเกมได้รางวัล Game of the year มาแล้ว ซึ่งก็มีออกมาถึง 3 ภาค โดยเนื้อหาในเกมสองภาคหลังนั้นจะเป็นการเล่าเรื่องราวขยายต่อมาจากฉบับนิยาย
แล้วคนที่ไม่ได้อ่านนิยาย (ซึ่งก็ยังไม่มีฉบับลิขสิทธิ์แปลไทย) และไม่เคยเล่นเกม จะดูเรื่องนี้รู้เรื่องหรือไม่ แล้วฉบับซีรีส์ของ Netflix สร้างโดยอ้างอิงจากอะไรเป็นหลัก???
ก่อนอื่นต้องบอกว่า เท่าที่มีการเปิดเผยข้อมูลออกมา พบว่าฉบับซีรีส์จะสร้างโดยยึดโครงสร้างจากต้นฉบับนิยายเป็นหลัก (สำหรับคอเกมในเมืองไทยก็ถือว่าได้ย้อนมาดูต้นกำเนิดของเรื่องราวและตัวละคร)
แต่อันที่จริงตัวซีรีส์เองก็เหมือนเป็นการขยายปูมหลังและที่มาของตัวละครจากต้นฉบับนิยาย ดังนั้นถึงคนดูจะไม่เคยอ่านนิยายหรือเล่นเกมมาก่อน ก็สามารถดูซีรีส์เรื่องนี้ได้รู้เรื่องและดูสนุก ดังนั้นประเด็นนี้จึงตัดออกได้เลยครับ

สำหรับเนื้อหาที่ขยายจากเกมมีหลายจุด เนื่องจากมีหลายอย่างที่ใส่เข้ามาในซีรีส์ซีซัน 1 ของ Netflix แต่ไม่ได้มีการเปิดเผยอย่างละเอียดนักในฉบับเกม ซึ่งมาลองดูว่ามีอะไรบ้าง
- เกรัลต์และซิริเจอกันได้อย่างไร
- เรื่องราวเชิงลึกของซิริ ชาติกำเนิด และครอบครัว
- เรื่องราวจุดกำเนิดของแยนเนเฟอร์ซึ่งในนิยายก็ไม่ได้มีการพูดถึงมากนัก
- การพบกันครั้งแรกระหว่างเกรัลต์และแยนเนเฟอร์
- ความปรารถนาที่เชื่อมโยงสายสัมพันธ์ระหว่างเกรัลต์และแยนเนเฟอร์เอาไว้
- ฉายา The Butcher of Blaviken
- ความสัมพันธ์ระหว่างเกรัลต์กับจักรพรรดิเอมเรียส
นอกจากนี้ยังมีจุดหนึ่งที่ The Witcher ทำได้ดีและเป็นอีกรสชาติหนึ่ง หากมีการเปรียบเทียบกับมหากาพย์ Lord of The Ring และซีรีส์ขึ้นหิ้งอย่าง Game of Throne นั่นคือ The Witcher เป็นเรื่องราวที่ผสมผสานและอยู่ระหว่างกึ่งกลางของทั้งสองเรื่อง
กล่าวคือในขณะที่ LOTR เป็นมหากาพย์แฟนตาซีที่เป็นต้นกำเนิดของเรื่องแนว Middle-Earth ที่เซตมาตรฐานบางอย่างเอาไว้ให้กับเรื่องแฟนตาซีทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น เผ่าพันธุ์เอล์ฟที่สูงส่ง เผ่าคนแคระ (ดวาฟ) ที่ชื่นชอบสมบัติ เผ่าออร์คที่ชั่วร้ายและมีพละกำลังมาก เผ่าพันธุ์มนุษย์ที่ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ในแบบยุคกลางของยุคอัศวิน ในขณะที่ GOT ก็ไปเน้นด้านการวางแผนชิงอำนาจ ทรยศหักหลัง หักเหลี่ยมเฉือนคม ผสมผสานไปกับโลกแฟนตาซี
ส่วนใน The Witcher ก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวตรงที่เป็นการหยิบเอาเรื่องราวแบบเทพนิยายแฟนตาซี แนวนิทานกริมม์ มาบอกเล่าใหม่แบบดาร์กแฟนตาซี และการรับทำภารกิจของตัวเอกเกรัลต์ ที่มีลักษณะเป็น Job ไปในตอน ทำให้เรื่องนี้ไม่ได้มีแนวทางเรื่องที่ดูเก่าเกินไป แต่ก็ไม่ได้หนัหน่วงดราม่าตับแตกเกินไปเหมือนกัน แม้ว่าแก่นของเรื่องจะมีการพูดถึงมนุษย์ว่าบางครั้งก็มีความชั่วร้ายกว่าสัตว์ประหลาดที่พวกเขาเกลียดกลัวก็ตาม อีกทั้งตัวเอกอย่างเกรัลต์ ต้องยอมรับว่ามีความ “เท่” ในแง่ของพฤติกรรมและความคิด ชวนให้คนอ่านหรือคนเล่นเกมอยากที่จะ Self insert ตัวเองเข้าไปในตัวละครได้ไม่ยาก ซึ่งในฉบับซีรีส์ก็ถ่ายทอดเรื่องพวกนี้ออกมาได้ไว้ได้ดีมากด้วยครับ
ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยบางส่วนครับ ซึ่งในซีรีส์ของ Netflix ก็ได้นำเสนอ The Witcher ออกสู่จอสตรีมมิ่ง ซึ่งหลังจากหนึ่งซีซันผ่านไป ถือว่าดูดีมีอนาคตมากในระดับที่อาจจะไปทาบชั้น Game of Throne ได้สำเร็จ รวมถึงการสร้างซีซันถัดไปด้วย แถมเรื่องนี้ยังมีข้อได้เปรียบมากอีกอย่างคือ ตัวนิยายต้นฉบับได้เขียนเรื่องราวหลักจบไปแล้ว ไม่เหมือน GOT ที่ผู้แต่งยังเขียนนิยายไม่จบทำให้ทีมสร้างต้องไปดัดแปลงเอาเอง
นี่จึงเป็นข้อได้เปรียบ ที่ทำให้ซีรีส์ The Witcher สามารถจะสร้างต่อจนจบเส้นเรื่องหลัก แล้วในอนาคตก็อาจจะมีการสร้างภาคต่อหรือภาคขยายออกไปได้อีก แล้วนี่อาจจะกลายเป็นซีรีส์เรือธงเรื่องใหม่ของ Netflix ต่อไปนี้ได้เลยครับ
The Witcher Trailer ตัวอย่าง Netflix
ติดตามบทความทั้งหมดของผู้เขียนคลิกที่นี่
Reference Website
https://unleashthegamer.com/netflix-witcher-games-books/#gref